การพัฒนาสารเคลือบผิวส้มจากไคโตซานและเชลแลค
อรุณศิริ ธราธรกุล
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร) คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 145 หน้า. 2550.
2550
บทคัดย่อ
การพัฒนาสารเคลือบผิวส้มจากไคโตซานและเชลแลค เริ่มจากการพัฒนาสูตรที่เหมาะสมโดยศึกษาผลของแซนแทนกัมและซูโครสเอสเทอร์และปริมาณที่เหมาะสม พบว่าแซนแทนกัมมีอิทธิพลต่อความหนืดอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.05) และแซนแทนกัมมีผลร่วมกันกับซูโครสเอสเทอร์ต่อการเกาะติดผิววัสดุและการซึมผ่านไอน้ำอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.05) ในการคัดเลือกสูตรที่เหมาะสม พิจารณาจากการเกาะติดผิววัสดุต่ำที่สุด การลดการสูญเสียน้ำหนักได้มากที่สุด และต้นทุนต่ำที่สุด พบว่าสูตรที่เหมาะสม ประกอบด้วย สารละลายเชลแลค สารละลายไคโตซาน แซนแทนกัม และซูโครสเอสเทอร์ ในปริมาณร้อยละ 84.66, 14.94, 0.33 และ 0.07 ตามลำดับ มีค่าการเกาะติดผิว 6.93 กรัมต่อตารางเมตร ร้อยละการสูญเสียน้ำหนักของส้ม 11.49 และมีต้นทุนวัตถุดิบประมาณ 67 บาท ในการศึกษาอายุการเก็บรักษาสารเคลือบที่พัฒนาได้ พบว่าสามารถเก็บรักษาได้อย่างน้อย 2 เดือน โดยที่ความเป็นกรด-ด่าง ความหนืด และการเกาะติดผิวไม่เปลี่ยนแปลง และไม่พบการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ สำหรับผลของสารเคลือบจากไคโตซานและเชลแลคต่อการเก็บรักษาส้มเขียวหวานพันธุ์สายน้ำผึ้งที่ 25+2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 65+2 พบว่า ส้มที่เคลือบด้วยสารเคลือบจากไคโตซานและเชลแลคที่ไม่เจือจางและเจือจางร้อยละ 50 มีการสูญเสียน้ำหนักของส้มน้อยกว่าส้มที่ไม่เคลือบผิว มีความมันวาวมากกว่าส้มที่ไม่เคลือบผิว และมีการเน่าเสียและเกิดกลิ่น และกลิ่นรสหมักน้อยกว่าส้มที่เคลือบผิวด้วยสารละลายเชลแลค เข้มข้นร้อยละ 5 และสารเคลือบผิวทางการค้าตรา Citrashine โดยอายุการเก็บรักษาตามการยอมรับของผู้บริโภคของส้มที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบจากไคโตซานและเชลแลคที่ไม่เจือจาง คือ 24 วัน ส้มที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบจากไคโตซานและเชลแลคเจือจางร้อยละ 50 มีอายุการเก็บรักษา 18 วัน สำหรับส้มที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบทางการค้าและส้มที่ไม่เคลือบผิว มีอายุการเก็บรักษา 12 วัน