บทคัดย่องานวิจัย

การออกแบบระบบการบรรจุภายใต้สภาวะบรรยากาศดัดแปลงสำหรับข้าวโพดฝักอ่อน

ภัทรินทร์ ลีลาภิวัฒน์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีการบรรจุ) คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 168 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

การออกแบบระบบการบรรจุภายใต้สภาวะบรรยากาศดัดแปลงสำหรับข้าวโพดฝักอ่อน

ทำการศึกษาผลของสภาพให้ซึมผ่านได้ของแก๊สของฟิล์ม น้ำหนักบรรจุและอุณหภูมิในการเก็บรักษาต่อการสร้างสภาวะบรรยากาศดัดแปลงแบบสมดุลที่เกิดขึ้นภายในภาชนะบรรจุและคุณภาพของข้าวโพดฝักอ่อน โดยบรรจุข้าวโพดฝักอ่อนน้ำหนัก 150 250และ 350กรัม ลงในขวดโหลอะครีลิกที่ปิดด้วยฟิล์มที่มีสภาพให้ซึมผ่านได้ของแก๊สที่แตกต่างกัน ได้แก่ PE-1 (OTR 9,000และ CO2TR 28,000 ml/m2.day) PE-2 (OTR 13,000และ CO2TR 37,000 ml/m2.day) และ PE-3 (OTR 20,000  และ CO2TR 48,000 ml/m2.day) เปรียบเทียบกับฟิล์ม PP (OTR 2,600และ CO2TR 4,200 ml/m2.day) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 10และ 20องศาเซลเซียส จากผลการทดลองพบว่าแก๊สออกซิเจนมีปริมาณลดลง และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มีปริมาณสูงขึ้นเมื่อสภาพให้ซึมผ่านได้ของแก๊สของฟิล์มลดลง น้ำหนักบรรจุเพิ่มขึ้น และอุณหภูมิการเก็บรักษาสูงขึ้น โดยในฟิล์ม PE-3ที่บรรจุข้าวโพดฝักอ่อน 150กรัม จะมีปริมาณแก๊สออกซิเจนมากที่สุดและมีปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สะสมน้อยที่สุดเมื่อเข้าสู่สภาวะสมดุล รองลงมาคือในฟิล์ม PE-2 PE-1และ PP ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่า ปริมาณเอทานอลที่ตรวจพบก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นหลังจากเก็บรักษาไว้นานขึ้นซึ่งสอดคล้องกับผลของปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งมีการหาอัตราการหายใจในระบบเปิดเปรียบเทียบกับระบบซึมผ่าน และหาค่า RQ ในระบบซึมผ่านด้วย

ข้าวโพดฝักอ่อนที่น้ำหนักบรรจุน้อยที่สุด 150กรัม ที่บรรจุในฟิล์มที่มีสภาพให้ซึมผ่านได้ของแก๊สสูงที่สุด คือฟิล์ม PE-3และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10องศาเซลเซียส มีองค์ประกอบแก๊สที่เหมาะสม คือแก๊สออกซิเจนร้อยละ 2และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 16และมีคุณภาพดีที่สุด คือมีการสูญเสียน้ำน้อยที่สุด ค่าเนื้อสัมผัสไม่แตกต่างจากวันเริ่มต้นของการเก็บรักษา ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ทั้งหมดมีค่าสูงที่สุดเมื่อเก็บรักษาไว้นานขึ้น และมีค่าสี L* และ Hue สูงที่สุดทั้งบริเวณปลายและกลางฝักข้าวโพดฝักอ่อนซึ่งสอดคล้องกับการให้คะแนนการเกิดสีน้ำตาลคุณภาพของข้าวโพดฝักอ่อน จึงมีอายุการเก็บรักษานานที่สุด 30วัน และปัจจัยจำกัดอายุการเก็บรักษาข้าวโพดฝักอ่อนในการทดลองนี้ คือการเกิดสีน้ำตาล

เมื่อนำข้อมูลอัตราการหายใจและลักษณะการบรรจุมาคำนวณโดยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อหาองค์ประกอบแก๊สออกซิเจนและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ภายในภาชนะบรรจุแบบกึ่งคงตัวและอ่อนตัวสำหรับข้าวโพดฝักอ่อน พบว่าปริมาณแก๊สออกซิเจนมีค่าสูงกว่า และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มีค่าต่ำกว่าค่าที่ได้จากการทดลอง