บทคัดย่องานวิจัย

กลยุทธ์การตลาดโรงสีข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โสมนุดา สัมมานุช

บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 212 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

กลยุทธ์การตลาดโรงสีข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในการศึกษาเรื่อง “กลยุทธ์การตลาดโรงสีข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการความช่วยเหลือด้านการตลาด โดยกลุ่มประชากรที่ทำการศึกษาคือ โรงสีในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งที่รับซื้อและไม่ได้รับซื้อข้าวหอมมะลิอินทรีย์ โดยใช้แบบสอบถามเพื่อสัมภาษณ์ทางไปรษณีย์ (Mail Interview) โดยส่งแบบสอบถาม 500ตัวอย่าง และได้รับแบบสอบถามตอบกลับจำนวน 107ชุด คิดเป็นร้อยละ 21.4ของแบบสอบถามที่ส่งออกไป วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ความถี่ การหาค่าคะแนนเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ F-test การวิเคราะห์ความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธี Least Significant Difference (LSD)

จากการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชาย  โดยมีอายุประมาณ 41-50ปี การศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี  สถานภาพในกิจการของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเจ้าของกิจการ/บุคคลในครอบครัว มีปัญหาด้านผลิตภัณฑ์ ปัญหาด้านราคา ปัญหาด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และปัญหาด้านการส่งเสริมการตลาด อยู่ในระดับมาก ส่วนปัญหาด้านนโยบาย/บริการของรัฐ อยู่ในระดับมากที่สุด มีความต้องการความช่วยเหลือด้านราคาในระดับมากที่สุด ส่วนความต้องการความช่วยเหลือด้านการเตรียมความพร้อมในด้านการตลาด, ด้านผลิตภัณฑ์, ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย, ด้านการส่งเสริมการตลาด และด้านนโยบาย/บริการของรัฐ อยู่ในระดับมาก และได้เสนอกลยุทธ์การตลาดของโรงสีข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในภาตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนี้

กลยุทธ์สำหรับโรงสีที่มีเงินลงทุน 1-5ล้านบาท 6-10ล้านบาท และ มากกว่า 15ล้านบาท   เช่น ควรมีการให้ความรู้และสนับสนุนเงินในการลงทุน  ให้ความรู้ในการเตรียมความพร้อมในด้านสถานที่ดำเนินการ  ให้ความรู้ในการเตรียมความพร้อมในด้านการจัดหาและอบรมบุคลากรในกิจการ  ให้ความรู้ในการเตรียมความพร้อมในด้านการผลิต  ให้ความรู้เรื่องมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสินค้า  และ จัดอบรมให้ความรู้และคำปรึกษาในการสร้างตราสินค้า  เป็นต้น

กลยุทธ์สำหรับโรงสีที่มีอายุ ต่ำกว่า 5ปี 5-10ปี 11-15ปี และ มากกว่า 15ปีขึ้นไป   เช่น จัดฝึกอบรมและให้คำปรึกษาในการดำเนินการ  ให้ความรู้และสนับสนุนเงินในการลงทุน  ให้ความรู้เรื่องมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสินค้า  ให้ความรู้ในการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์  ส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัยมาใช้ในกิจการ  มีการกำหนดมาตรฐานราคาที่แน่นอน  และให้ความรู้และจัดหาช่องทางที่สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์  เป็นต้น

กลยุทธ์สำหรับโรงสีที่มีลักษณะของกิจการเป็น ประกอบการเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด และสหกรณ์ เช่น ให้ความรู้และสนับสนุนเงินในการลงทุน  ให้ความรู้ในการเตรียมความพร้อมในด้านสถานที่ดำเนินการ  ให้ความรู้ในการเตรียมความพร้อมในด้านการจัดหาและอบรมบุคลากรในกิจการ  ให้ความรู้ในการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์  และ กำหนดให้ราคาขายผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์สูงกว่าราคาข้าวทั่วไป  เป็นต้น

กลยุทธ์สำหรับโรงสีที่มีลักษณะตลาด ขายในประเทศ ส่งออกอย่างเดียว และ ทั้งขายในประเทศและต่างประเทศ เช่น  ให้ความรู้และสนับสนุนเงินในการลงทุน  จัดอบรมและให้ความรู้เรื่องมาตรฐานต่างๆ ของข้าวหอมมะลิอินทรีย์  กำหนดให้ราคาขายผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์สูงกว่าราคาข้าวทั่วไป ให้ความรู้และจัดหาช่องทางที่สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์  และ ให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  เป็นต้น

ดังนั้นกลยุทธ์การตลาดโรงสีข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ด้านการเตรียมความพร้อมในด้านการตลาด ให้ความรู้และสนับสนุนเงินในการลงทุน  ให้ความรู้ในการเตรียมความพร้อมในด้านการจัดหาและอบรมบุคลากรในกิจการ  และ ความรู้ในการเตรียมความพร้อมในด้านสถานที่ดำเนินการ ด้านผลิตภัณฑ์ จัดอบรมและให้ความรู้เรื่องมาตรฐานต่างๆ ของข้าวหอมมะลิอินทรีย์  ให้ความรู้เรื่องมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสินค้า  จัดอบรมให้ความรู้และคำปรึกษาในการสร้างตราสินค้า  และ ให้ความรู้ในการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ด้านราคา มีการกำหนดมาตรฐานราคาที่แน่นอน  กำนหดระบบราคาในการจัดจำหน่ายที่เป็นมาตรฐาน  และ กำหนดให้ราคาขายผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์สูงกว่าราคาข้าวทั่วไป  ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ให้ความรู้และจัดหาช่องทางที่สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์  ให้ความรู้ในการบริหารสินค้าคงคลัง  และ สนับสนุนและให้โอกาสในการเลือกทำเลที่ตั้งของกิจการที่เหมาะสม ด้านการส่งเสริมการตลาด ความรู้และสนับสนุนในการโฆษณาผลิตภัณฑ์/องค์กร  จัดอบรมและให้ความรู้เรื่องด้านการส่งเสริมการตลาด ประกอบด้วย การขายโดยใช้พนักงานขาย, ความรู้เรื่องการส่งเสริมการขาย และความรู้และวิธีการทำตลาดทางตรง  และ ความรู้และส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด  ด้านนโยบาย/บริการของรัฐ ให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  อำนวยความสะดวกในการติดต่อการภาครัฐ  และ จัดให้มีหน่วยงานในการส่งเสริมการตลาดของข้าวหอมมะลิอินทรีย์