การใช้รำข้าวเหนียว (กข 6) หรือรำข้าวจ้าว (หอมมะลิ 105) ร่วมกับอัลฟา–โทโคเฟอริว อะซิเตรท ต่อการเจริญเติบโต คุณภาพซากและคุณภาพเนื้อของไก่เนื้อ
วันชนะ พิชวงค์
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สัตวศาสตร์) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 105 หน้า. 2550.
2550
บทคัดย่อ
ศึกษาการใช้รำข้าวเหนียว (กข 6) เปรียบเทียบกับรำข้าวจ้าว (หอมมะลิ 105) ร่วมกับ อัลฟา-โทโคเฟอริว อะซิเตรท ในสูตรอาหารไก่เนื้อต่อคุณภาพอาหารไก่เนื้อ การเจริญเติบโต คุณภาพซาก คุณภาพเนื้อ และลักษณะปรากฏ โดยทำการเสริมรำข้าวชนิดละ 4ระดับคือ 4, 8, 12และ 16%ในสูตรอาหารและกลุ่มควบคุมที่ไม่มีการเสริมรำข้าว ใช้ไก่เนื้ออายุ 1วันจำนวน 9กลุ่มๆ ละ 5คอก (ซ้ำ) คอกละ 20ตัวรวม 900ตัว ใช้แผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (Completely Randomize Design, CRD) ให้อาหารและน้ำอย่างเต็มที่ ทำการทดลองนาน 42วัน เมื่อครบกำหนดแล้วทำการสุ่มไก่คอกละ 4ตัวเพื่อทำการฆ่าชำแหละซาก ผลการทดลองพบว่าอาหารที่มีการเสริมรำข้าวทั้งสองชนิดเกิดการหืนไม่แตกต่างกัน (P>0.05) แต่การเสริมสามารถเพิ่มปริมาณของ อัลฟา-โทโคเฟอรอล ได้สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริมรำข้าวและเพิ่มขึ้นตามระดับการเสริมรำข้าว นอกจากนี้การเสริมรำข้าวทั้งสองชนิดช่วยชะลอการเกิดการหืนในเนื้ออกและน่องได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริมรำข้าว โดยเฉพาะที่ระยะเวลาการเก็บรักษา 5, 10และ15วัน (P<0.01) การเสริมรำข้าวหอมมะลิ ที่ระดับ 12และ 16%ร่วมกับ อัลฟา-โทโคเฟอริว อะซิเตรท มีค่าการหืนน้อยที่สุด แต่เมื่อระยะเวลาการเก็บเพิ่มขึ้นคือ 20และ 25วัน เนื้ออกจากทุกกลุ่มการทดลองมีค่าการหืนไม่แตกต่างกัน (P>0.05) แต่พบว่าการเสริมรำข้าวทั้งสองชนิดในระดับสูงคือ 12และ 16%ในสูตรอาหารช่วยชะลอการหืนในเนื้อน่องได้ดีกว่าระดับอื่นๆและสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริมรำข้าว (P<0.01) การเสริมรำข้าวทั้งสองชนิดไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต แม้ว่าปริมาณการกินอาหารของไก่ช่วง 0ถึง 3สัปดาห์ในกลุ่มที่เสริมรำข้าวทั้งสองชนิดสูงกว่ากลุ่มที่ไม่เสริมรำข้าวก็ตาม (P>0.05) ด้านองค์ประกอบซากนั้นพบว่าไก่เนื้อมีขนาดของกึ๋นเพิ่มขึ้นตามระดับการเสริมรำข้าว (P<0.01) เนื้อไก่จากกลุ่มที่มีการเสริมรำข้าวจ้าว (หอมมะลิ 105) ที่ระดับ 4%มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างของเนื้อลดลงน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริมรำข้าว (P<0.01) ค่าความเหลืองของเนื้ออกที่ได้รับการเสริมรำข้าวทั้งสองชนิดมีค่าต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริมรำข้าว (P<0.01) ค่าการสูญเสียน้ำ (Drip loss) ของเนื้อนั้นพบว่า เนื้อน่องของกลุ่มที่ได้รับเสริมรำข้าวเหนียว (กข 6) ที่ระดับ 4%มีการสูญเสียน้ำสูงกว่ากลุ่มที่ไม่เสริมรำข้าว การยอมรับของผู้บริโภค (สี, กลิ่นรส, รสชาติ, เนื้อสัมผัส และความชอบโดยรวม) ไม่แตกต่างกัน (P>0.05) ระหว่างกลุ่มการทดลอง
จากการทดลองสรุปได้ว่าการเสริมรำข้าวทั้งสองชนิดนั้น แม้ไม่มีผลที่ชัดเจนต่ออัตราการเจริญเติบโต คุณภาพซาก คุณภาพและลักษณะปรากฏของเนื้อ รวมทั้งการยอมรับด้านคุณภาพในการบริโภคของเนื้อไก่ แต่การเสริมสามารถเพิ่มปริมาณของ อัลฟา-โทโคเฟอรอล ในอาหารได้ โดยเฉพาะการเสริมรำข้าวจ้าว (หอมมะลิ 105) ที่ระดับ 12 และ 16% ร่วมกับ อัลฟา-โท โคเฟอริว อะซิเตรท ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณของอัลฟา-โทโคเฟอรอลได้มากกว่ากลุ่มอื่น ส่งผลให้สามารถป้องกันการเกิดการหืนในเนื้ออกและน่องได้ดีกว่ากลุ่มอื่น