บทคัดย่องานวิจัย

ผลของ Mannitol, Acetic acid, Ascorbic acid และ Thidiazuron ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกเฮลิโคเนียพันธุ์ ‘Bigbud’ (Heliconia spp.)

บัญชา ภิรมย์รื่น

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 135 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

ผลของ Mannitol, Acetic acid, Ascorbic acid และ Thidiazuron ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกเฮลิโคเนียพันธุ์ ‘Bigbud’ (Heliconia spp.)

การศึกษาผลของ Mannitol, Acetic acid, Ascorbic acid และ Thidiazuron (TDZ) ต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสด อัตราการดูดน้ำ การหายใจ การผลิตเอทิลีน และอายุการปักแจกันของดอกเฮลิโคเนียพันธุ์ ‘Bigbud’ (Heliconia spp.) พบว่าดอกเฮลิโคเนียที่ปักในสารละลาย Mannitol ที่ระดับความเข้มข้น  0 (ชุดควบคุม), 0.5, 1 และ 2% มีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสดและอัตราการดูดน้ำลดลงมากกว่าดอกเฮลิโคเนียที่ปักในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) อย่างมีนัยสำคัญ การใช้สารละลาย Mannitol ยังสามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสีกลีบประดับของดอกเฮลิโคเนีย แต่ไม่พบความแตกต่างทางสถิติ นอกจากนั้นดอกเฮลิโคเนียที่ปักในสารละลาย Mannitol ที่ระดับความเข้มข้น 2% มีอัตราการหายใจสูงแต่มีการผลิตเอทิลีนต่ำกว่าดอกเฮลิโคเนียที่ปักในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) อย่างไรก็ตามสารละลาย Mannitol ไม่มีผลต่ออายุการปักแจกันของดอกเฮลิโคเนีย การศึกษาผลของสารละลาย Acetic acid ที่ระดับความเข้มข้น 0 (ชุดควบคุม), 0.5, 1, 1.5 และ 3% ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกเฮลิโคเนีย พบว่าดอกเฮลิโคเนียที่ปักในสารละลาย Acetic acid มีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสดลดลงมากกว่าดอกเฮลิโคเนียที่ปักในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) อย่างมีนัยสำคัญ แต่สารละลาย Acetic acid ไม่มีผลต่ออัตราการดูดน้ำและอายุการปักแจกันของดอกเฮลิโคเนีย นอกจากนั้นการใช้สารละลาย Acetic acid ยังสามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสีกลีบประดับของดอกเฮลิโคเนียได้ อย่างไรก็ตามดอกเฮลิโคเนียที่ปักในสารละลาย Acetic acid ที่ระดับความเข้มข้น 1% มีอัตราการหายใจสูงแต่การผลิตเอทิลีนต่ำกว่าดอกเฮลิโคเนียที่ปักในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) การศึกษาผลของสารละลาย Ascorbic acid ที่ระดับความเข้มข้น 0 (ชุดควบคุม), 0.5, 1 และ 1.5% ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกเฮลิโคเนีย พบว่าสารละลาย Ascorbic acid ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสด การเปลี่ยนแปลงสีกลีบประดับและอายุการปักแจกัน แต่ดอกเฮลิโคเนียที่ปักในสารละลาย Ascorbic acid มีอัตราการดูดน้ำสูงกว่าดอกเฮลิโคเนียที่ปักในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) โดยเฉพาะที่ระดับความเข้มข้น 1.5% พบว่ามีอัตราการดูดน้ำสูงที่สุด นอกจากนั้นดอกเฮลิโคเนียที่ปักในสารละลาย Ascorbic acid มีอัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีนสูงกว่าดอกเฮลิโคเนียที่ปักในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม)และการศึกษาผลของสารละลาย TDZ ที่ระดับความเข้มข้น 0 (ชุดควบคุม), 5, 10, 15, 30และ 45 µM ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกเฮลิโคเนีย พบว่าดอกเฮลิโคเนียที่ปักในสารละลาย TDZ มีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสดลดลงมากกว่าดอกเฮลิโคเนียที่ปักในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง แต่สารละลาย TDZ ไม่มีผลต่ออัตราการดูดน้ำและการเปลี่ยนแปลงสีกลีบประดับของดอกเฮลิโคเนีย นอกจากนั้นดอกเฮลิโคเนีย ที่ปักในสารละลาย TDZ มีอัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีนสูงกว่าดอกเฮลิโคเนียที่ปักในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง โดยดอกเฮลิโคเนียที่ปักในสารละลาย TDZ ที่ระดับความเข้มข้น 5 µM มีอายุการปักแจกันนานที่สุดเท่ากับ 9.6วัน ในขณะที่ดอกเฮลิโคเนียที่ปักในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) มีอายุการปักแจกันสั้นที่สุดเท่ากับ 6.6วัน  จากการทดลองหาปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดในน้ำปักแจกันของดอกเฮลิโคเนียในสารละลายชนิดต่างๆ พบว่าการใช้สารละลาย Acetic acid ที่ระดับความเข้มข้น 0.5%สามารถควบคุมปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำยาปักแจกันได้ดีกว่าชุดการทดลองอื่นๆ แต่ไม่พบความแตกต่างทางสถิติ ส่วนชุดควบคุมมีปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำปักแจกันมากที่สุด