บทคัดย่องานวิจัย

ผลของ Methyl Jasmonate ต่อการควบคุมโรคผลเน่าและคุณภาพของผลมะละกอสุกพันธุ์เรดมาราดอล

นริษรา โสมณวัตร์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 108 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

ผลของ Methyl Jasmonate ต่อการควบคุมโรคผลเน่าและคุณภาพของผลมะละกอสุกพันธุ์เรดมาราดอล

เชื้อราสาเหตุโรคผลเน่าภายหลังการเก็บเกี่ยวที่แยกได้จากมะละกอสุกมี 6 ชนิด ได้แก่ Lasiodiplodia theobromae, Colletotrichum gloeosporioides, Rhizopus stolonifer, Aspergillus flavus, Aspergillus niger และ Penicillium sp. มีความถี่ที่พบเท่ากับร้อยละ 27.91, 18.60, 16.28, 13.95, 13.95 และ 9.30 ตามลำดับ เมื่อนำมาศึกษาผลของ  Methyl Jasmonate (MeJA) ที่ความเข้มข้น 0 (ชุดควบคุม), 100, 200, 400 และ 800 ไมโครโมลต่อการงอกของสปอร์เชื้อราบนอาหาร Water Agar (WA) และบนอาหาร WA ผสมน้ำคั้นมะละกอร้อยละ 1 พบว่า บนอาหาร WA ที่ผสม MeJA ความเข้มข้นตั้งแต่ 100 ไมโครโมลขึ้นไป มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการงอกของสปอร์เชื้อรา Penicillium sp. ได้อย่างสมบูรณ์  MeJA ความเข้มข้น 200-800 ไมโครโมล มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการงอกของสปอร์เชื้อ C. gloeosporioides และ R. stolonifer ได้อย่างสมบูรณ์ MeJA ความเข้มข้น 400-800 ไมโครโมล มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการงอกของสปอร์เชื้อ L. theobromae ได้อย่างสมบูรณ์ และ MeJA ความเข้มข้น 800 ไมโครโมลสามารถยับยั้งการงอกของสปอร์เชื้อ A. niger ได้อย่างสมบูรณ์ ในขณะที่ MeJA ทุกความเข้มข้นไม่สามารถยับยั้งการงอกของสปอร์เชื้อ A. flavus ได้ แต่การใช้ MeJA ที่มีความเข้มข้นสูงสามารถชะลอการงอกของสปอร์ได้ดีกว่าที่ความเข้มข้นต่ำ นอกจากนี้ประสิทธิภาพของ MeJA จะลดลงเมื่อสปอร์ของเชื้อราอยู่ในสภาพที่มีสารอาหาร (น้ำมะละกอ)  การแช่ผลมะละกอสุกที่ผ่านการปลูกเชื้อราสาเหตุโรคผลเน่าใน MeJA ความเข้มข้น 400 ไมโครโมล นาน 20 นาที ก่อนนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส นาน 14 วัน และจากนั้นนำมาวางจำหน่ายที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส นาน 4 วัน พบว่า MeJA สามารถรักษาความแน่นเนื้อ ชะลออัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีนได้ดีกว่ามะละกอที่แช่ในน้ำกลั่น แต่ไม่ช่วยชะลอการเกิดโรค ความรุนแรงในการเกิดโรค การเปลี่ยนแปลงของสีเปลือก การสูญเสียน้ำหนัก ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ การยอมรับของผู้บริโภคด้านการเกิดโรคและด้านประสาทสัมผัส รวมทั้งไม่สามารถกระตุ้นกิจกรรมของเอนไซม์ peroxidase, catalase และ superoxide dismutase ได้