บทคัดย่องานวิจัย

ผลของไคโตซานต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของช่อดอกปทุมมาพันธุ์ลัดดาวัลย์

วัชรา ทะมะละ

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 114 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

ผลของไคโตซานต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของช่อดอกปทุมมาพันธุ์ลัดดาวัลย์

การศึกษาผลของการพ่นสารละลายไคโตซานความเข้มข้น 0 10 20 40 และ 80 ppm ร่วมกับปุ๋ยทางใบสูตร 20-20-20 ต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของปทุมมาพันธุ์ลัดดาวัลย์ (Curcuma Laddawan) พบว่า ต้น ปทุมมาที่พ่นด้วยสารละลายไคโตซานความเข้มข้น 20 ppm มีแนวโน้มดัชนีการเจริญเติบโตดีที่สุดและสามารถเก็บเกี่ยวช่อดอกได้เร็ว แต่ต้นที่พ่นด้วยสารละลายไคโตซานความเข้มข้น 40 ppm มีความยาวของช่อดอก ขนาดช่อดอกและความสามารถในการสังเคราะห์แสงสูงกว่าต้นปทุมมาที่พ่นด้วยสารละลายไคโตซานความเข้มข้นอื่นๆ รองลงมาคือ ต้นปทุมมาที่พ่นด้วยสารละลายไคโตซานความเข้มข้น 80 ppm หลังจากเก็บเกี่ยวช่อดอกปทุมมาพันธุ์ลัดดาวัลย์และนำมาปักในน้ำกลั่น ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พบว่า ช่อดอกปทุมมาที่เก็บเกี่ยวจากต้นที่พ่นด้วยสารละลายไคโตซานความเข้มข้น 80 ppm มีอายุการปักแจกันนานที่สุดเท่ากับ 13 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่อดอกปทุมมาที่ได้จากต้นที่พ่นด้วยสารละลายไคโตซานความเข้มข้น 40 20 10 และ 0 ppm (11 10 9 และ 9 วัน ตามลำดับ) ทั้งนี้การพ่นสารละลายไคโตซานความเข้มข้น 20 ppm สามารถช่วยลดการเปิดของปากใบของกลีบประดับของช่อดอกปทุมมาได้ แต่ไม่มีผลต่อการยืดอายุการปักแจกันของช่อดอกปทุมมาได้เมื่อเปรียบเทียบกับช่อดอกที่เก็บเกี่ยวจากการพ่นสารละลายไคโตซานความเข้มข้น 80 ppm ส่วนการใช้สารละลายไคโตซานความเข้มข้น 0 (น้ำกลั่น) 25 50 75 และ 100 ppm เป็นน้ำยาปักแจกันสำหรับช่อดอกปทุมมาพันธุ์ลัดดาวัลย์ที่เก็บเกี่ยวจากสวนบริษัท พบว่า การใช้สารละลายไคโตซานทุกความเข้มข้นไม่สามารถยืดอายุการปักแจกันและส่งเสริมคุณภาพของช่อดอกปทุมมาหลังการเก็บเกี่ยวได้เมื่อเปรียบเทียบกับช่อดอกที่ปักในน้ำกลั่นที่มีอายุการปักแจกันนานที่สุดเท่ากับ 8 วัน