ผลของบรรจุภัณฑ์และตัวดูดซับเอทิลีนระหว่างการขนส่งต่อคุณภาพการปักแจกันของกล้วยไม้ Dendrobium Big White Jumbo
ศิขณัฐก์ มานุวงศ์
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 104 หน้า. 2550.
2550
บทคัดย่อ
การศึกษาผลของการใช้ตัวดูดซับเอทิลีน (EA) และบรรจุภัณฑ์ ได้แก่บรรจุภัณฑ์แอคทีฟ (Active) และถุงโพลีโพรพิลีน (PP) ในการบรรจุช่อดอกกล้วยไม้หวายพันธุ์ Big White Jumbo เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส นาน 3 วัน จากนั้นนำมาปักแจกันที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พบว่าการบรรจุช่อดอกกล้วยไม้ในถุง Active ที่ไม่ใส่ EA ทำให้ช่อดอกกล้วยไม้มีอายุการปักแจกันน้อยที่สุดโดยมีเปอร์เซ็นต์การบานของดอกตูมต่ำและมีการหลุดร่วงของดอกบานสูง การใช้ตัวดูดซับ เอทิลีนสามารถรักษาคุณภาพของช่อดอกกล้วยไม้ได้ โดยทำให้ช่อดอกกล้วยไม้มีอายุการปักแจกันนานกว่าถุงที่ไม่ได้ใส่ EA เมื่อเปรียบเทียบในถุงชนิดเดียวกัน การเก็บรักษาช่อดอกกล้วยไม้ในถุง PP หรือถุง Active ที่ใส่ EA ที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 วัน แล้วนำมาปักน้ำกลั่นที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 70-80 เป็นเวลา 5 วัน พบว่าการใช้ถุง PP+EA ทำให้ช่อดอกกล้วยไม้มีอายุการปักแจกันนานกว่าการใช้ถุง Active+EA โดยช่อดอกมีอัตราการหายใจต่ำกว่าในระหว่างการปักแจกัน แต่มีการผลิตเอทิลีนสูงกว่าช่อดอกกล้วยไม้ที่ผ่านการบรรจุในถุง Active+EA ในดอกตูมและดอกบานของช่อดอกกล้วยไม้ภายหลังการเก็บรักษา พบว่าดอกตูมมีกิจกรรมเอนไซม์ ACC oxidase สูงกว่าดอกบาน และดอกตูมมีกิจกรรมเอนไซม์ ACC oxidase ลดลงภายหลังการเก็บรักษา แต่ดอกบานที่ผ่านการบรรจุในถุง Active+EA มีกิจกรรมเอนไซม์ ACC oxidase เพิ่มขึ้นในระหว่างปักแจกัน ดอกบานและดอกตูมของช่อดอกกล้วยไม้ที่บรรจุในถุง Active+EA มีกิจกรรมเอนไซม์ catalase และ peroxidase มากกว่าช่อดอกล้วยไม้ที่บรรจุในถุง PP+EA และมีกิจกรรมเอนไซม์ catalase และ peroxidase เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาเก็บรักษา ส่วนปริมาณ malondialdehyde (MDA) ในดอกบานและดอกตูมของช่อดอกกล้วยไม้ภายหลังเก็บรักษามีปริมาณน้อยกว่าช่อดอกกล้วยไม้ก่อนการบรรจุถุงทั้งสองชนิด