บทคัดย่องานวิจัย

ผลของฤดูการเก็บเกี่ยว สาร methyl jasmonate และ 1-methylcyclopropene ต่อการเกิดอาการสะท้านหนาวของฝักกระเจี๊ยบเขียว

นงลักษณ์ บุญทองโท

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 82 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

ผลของฤดูการเก็บเกี่ยว สาร methyl jasmonate และ 1-methylcyclopropene ต่อการเกิดอาการสะท้านหนาวของฝักกระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียวเป็นผักเขตร้อนที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่มักเกิดอาการช้ำสีน้ำตาลได้ง่ายเมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 7 องศาเซลเซียส ในงานวิจัยนี้ได้นำฝักกระเจี๊ยบเขียวพันธุ์กรีนสตาร์ 152 ที่เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูหนาว (มกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550) และช่วงฤดูร้อน (พฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2550) มารมด้วยสาร methyl jasmonate (MeJA) ที่ความเข้มข้น 0 10-5 10-4 และ 10-3 โมลาร์ และสาร 1-methylcyclopropene (1-MCP) ที่ความเข้มข้น 0 100 200 และ 400 ppb ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 16 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90-95 พบว่าฝักกระเจี๊ยบเขียวที่มีการเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูร้อนมีอัตราการหายใจ การผลิตเอทิลีน และการสูญเสียน้ำหนักน้อยกว่า แต่มีปริมาณวิตามินซี และการเกิดออกซิเดชันของ      ลิปิดสูงกว่าฝักกระเจี๊ยบเขียวที่เก็บเกี่ยวในฤดูหนาว ซึ่งการเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูร้อนมีแนวโน้มที่มีอาการสะท้านหนาวน้อยกว่าการเก็บเกี่ยวในฤดูหนาว ฝักกระเจี๊ยบเขียวที่รมด้วยสาร methyl jasmonate ในทุกความเข้มข้นมีอัตราการหายใจ ปริมาณมาลอนไดอัลดีไฮด์ การรั่วไหลของประจุมากกว่าฝักกระเจี๊ยบเขียวที่ไม่ได้รมสาร โดยการรมสารที่ความเข้มข้น 10-3 โมลาร์ มีศักยภาพในการลดอาการสะท้านหนาวได้ดีที่สุด ส่วนการรมสาร 1-methylcyclopropene (1-MCP) ทำให้ฝักกระเจี๊ยบเขียวมีอัตราการหายใจ การผลิตเอทิลีนสูงกว่าฝักกระเจี๊ยบที่ไม่ได้รม และฝักกระเจี๊ยบเขียวที่รม 1-MCP ความเข้มข้น 400 ppb มีแนวโน้มของการเกิดลิปิดออกซิเดชันสูง ในขณะที่ฝักกระเจี๊ยบเขียวที่ไม่ได้รม 1-MCP มีปริมาณวิตามินซีสูงกว่าฝักกระเจี๊ยบเขียวที่รม 1-MCP โดยการรม 1-MCP ไม่มีผลต่อการควบคุมอาการสะท้านหนาวของฝักระเจี๊ยบเขียวที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ