การประยุกต์ใช้โอโซนเพื่อควบคุมเชื้อสาเหตุโรคและแมลงที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105
ณัฐวุฒิ นิยมคำ
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) พืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 43 หน้า. 2551.
2551
บทคัดย่อ
การประยุกต์ใช้โอโซนมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการใช้โอโซนในการควบคุมเชื้อสาเหตุโรค และแมลงที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105ที่มีคุณภาพเบื้องต้นดังนี้ความชื้นเมล็ดพันธุ์ 11.30เปอร์เซ็นต์ ความงอกของเมล็ด 89เปอร์เซ็นต์ ความมีชีวิตทดสอบโดยวิธี TZ test 97เปอร์เซ็นต์ อัตราเร็วในการงอก 15.03ต้น/วัน อัตราการเจริญเติบโตของต้นกล้า 16.03มิลลิกรัม/ต้น/7วัน และความงอกในสภาพอากาศหนาว 95เปอร์เซ็นต์ จากการตรวจหาเชื้อราสาเหตุโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าว พบการติดเชื้อราในเมล็ด 87.50เปอร์เซ็นต์ โดยตรวจพบเชื้อรา Alternaria padwickii ในปริมาณสูงสุด 69.63เปอร์เซ็นต์ รองลงมาได้แก่ เชื้อรา Fusarium moniliforme เท่ากับ 3.63เปอร์เซ็นต์ หลังจากให้โอโซนในอัตรา 1.25มิลลิกรัม/กรัมของเมล็ดพันธุ์ข้าว/ชั่วโมง ที่ระยะเวลา 2, 4, 6และ 8ชั่วโมง แก่เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านการปรับสภาพความชื้นเมล็ดพันธุ์ให้มีความชื้นเริ่มต้น 11และ 18เปอร์เซ็นต์ จากการประเมินประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์โดยการตรวจหาเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อของเมล็ดพันธุ์หลังจากการให้โอโซนในกรรมวิธีต่างๆ พบว่าการให้โอโซนแก่เมล็ดเปียก (ความชื้น 18เปอร์เซ็นต์) มีประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อราได้ดีกว่าการให้กับเมล็ดแห้ง (ความชื้น 11เปอร์เซ็นต์) อย่างมีนัยสำคัญ การให้โอโซนเป็นระยะเวลา 8ชั่วโมง มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยสามารถลดปริมาณการติดเชื้อราลงเหลือ 17.88และ 26.25เปอร์เซ็นต์ ในเมล็ดเปียกและในเมล็ดแห้งตามลำดับ และปริมาณเชื้อรา A. padwickii ลดลงเหลือ 14.38เปอร์เซ็นต์และ 20.38เปอร์เซ็นต์ และเชื้อรา F. moniliforme ลดลงเหลือ 1.00เปอร์เซ็นต์และ 0.63เปอร์เซ็นต์ ในเมล็ดเปียกและเมล็ดแห้งตามลำดับ แต่ที่กรรมวิธีนี้จะมีผลให้คุณภาพเมล็ดพันธุ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน จากการประเมินประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงโดยการตรวจนับเปอร์เซ็นต์การตายของด้วงงวงข้าวในระยะตัวเต็มวัยภายหลังจากการให้โอโซนที่อัตรา 1.5มิลลิกรัม/กรัมของเมล็ดพันธุ์ข้าว/ชั่วโมง ที่ระยะเวลา 1, 2, 3และ 4ชั่วโมง พบว่า การให้โอโซนในระยะเวลาเพิ่มขึ้นมีผลให้เปอร์เซ็นต์การตายของแมลงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการให้โอโซนแก่ข้าว 3และ 4ชั่วโมง ทำให้เปอร์เซ็นต์การตายสูงถึง 100เปอร์เซ็นต์
ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่า การให้โอโซนแก่เมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในอัตรา 1.25 มิลลิกรัม/กรัมของเมล็ดพันธุ์ข้าว/ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 6 ชั่วโมง ในเมล็ดเปียก (ความชื้น 18 เปอร์เซ็นต์) เหมาะสมที่สุดในการควบคุมเชื้อราที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 โดยสามารถลดปริมาณเชื้อราที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ลงเหลือ 26.39 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปริมาณเชื้อ A. padwickii ลดลงเหลือ 21.57 เปอร์เซ็นต์ และเชื้อรา F. moniliforme ลดลงเหลือ 1.01 เปอร์เซ็นต์ โดยมีผลต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์เพียงเล็กน้อย และการให้โอโซนแก่เมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 3 ชั่วโมง ขึ้นไปสามารถกำจัดด้วงงวงข้าวในระยะตัวเต็มวัยได้ 100 เปอร์เซ็นต์