บทคัดย่องานวิจัย

ผลของไคโตซานต่อการชักนำการสร้างสารต้านเชื้อราในผลมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์

ปัญชลี เขียวขจี

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 76 หน้า. 2551.

2551

บทคัดย่อ

ผลของไคโตซานต่อการชักนำการสร้างสารต้านเชื้อราในผลมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์

เมื่อนำไคโตซานจากเห็ดหอมผสมกับไคโตซานทางการค้าในอัตราส่วนต่างๆ ไปทดสอบผลการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides ในจานเพาะเชื้อ พบว่าไคโตซาน 1.00%, ไคโตซานจากเห็ดหอม 0.10% ร่วมกับไคโตซาน 0.50%, ไคโตซานจากเห็ดหอม 0.10% ร่วมกับไคโตซาน 0.75% และ ไคโตซานจากเห็ดหอม 0.10% ร่วมกับไคโตซาน 1.00%สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้100% ในการตรวจหาสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราจากสารสกัดเปลือกมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ 4 ช่วงอายุ คือ 90, 100, 110 และ 120 วัน โดยวิธีตรวจแถบสารที่เชื้อราเจริญไม่ได้บนแผ่น TLC และทำ bioassay ดูการยับยั้งการเจริญ พบว่ามะม่วงทั้ง 4 ช่วงอายุมีสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ C. gloeosporioides ซึ่งได้แก่แถบสารที่ Rf 0.10 – 0.30

ผลของไคโตซานจากเห็ดหอมต่อการสร้างสารต้านเชื้อรา พบว่าสารสกัดจากเปลือกมะม่วงที่ผ่านการเคลือบผิวด้วยไคโตซานจากเห็ดหอม 0.10% ร่วมกับไคโตซาน 1.00% สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ดีกว่าชุดทดลองอื่นๆ เมื่อทดสอบบนแผ่นTLC และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณสารยับยั้งการเจริญในมะม่วงทั้ง 4 ช่วงอายุ พบว่า ชุดทดลองดังกล่าวมีปริมาณสารยับยั้งการเจริญต่อน้ำหนักเปลือกสดมากที่สุด ซึ่งที่ช่วงอายุ 120 วัน มะม่วงชุดทดลองนี้มีปริมาณสารยับยั้งการเจริญมากกว่าชุดควบคุมถึง 2.6 เท่า และเมื่อนำแถบสารที่ Rf 0.10 – 0.30 มาวิเคราะห์หาโครงสร้างโดยใช้เครื่องมือทางสเปกโตรสโคปีและโครมาโตกราฟี ได้แก่ อินฟราเรดสปกโตรโฟโตมิเตอร์,โปรตอน – นิวเคลียร์ แมกเนติก รีซอแนนซ์ สเปกโตรมิเตอร์, แกสโครมาโตกราฟ และ แกสโครมาโตกราฟ - แมสสเปกโตรมิเตอร์ สรุปโครงสร้างของสารที่อาจเป็นไปได้คือ di-2-ethylhexyl phthalate