บทคัดย่องานวิจัย

ผลของไคโตซานต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Lasiodiplodia sp. ในลำไยพันธุ์ดอหลังการเก็บเกี่ยว

ปิยะวรรณ ขวัญมงคล

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 80 หน้า. 2551.

2551

บทคัดย่อ

ผลของไคโตซานต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Lasiodiplodia sp. ในลำไยพันธุ์ดอหลังการเก็บเกี่ยว

การทดสอบหาความเข้มข้นของสารเคลือบผิวไคโตซานพอลิเมอร์ที่เหมาะสมในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Lasiodiplodia sp. โดยเพาะเชื้อบน potato dextrose agar (PDA) ที่ผสมสารละลายไคโตซานให้มีความเข้มข้น 0.05, 0.25, 0.5 และ 1% พบว่า ไคโตซานพอลิเมอร์ความเข้มข้น 0.5 และ 1% สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Lasiodiplodia sp. ได้อย่างสมบูรณ์ จึงได้ศึกษาผลของสารเคลือบผิวชนิดนี้ ที่ความเข้มข้นทั้งสอง ต่อกิจกรรมเอนไซม์ไคติเนส และการสร้างสารต้านเชื้อรา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงคุณภาพด้านประสาทสัมผัสและการเก็บรักษาลำไยพันธุ์ดอหลังเก็บเกี่ยว ที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 14 วัน พบว่า ไคโตซานพอลิเมอร์ไม่มีผลต่อการกระตุ้นหรือชักนำ การเพิ่มกิจกรรมของเอนไซม์ไคติเนส การสร้างสารต้านเชื้อรา Lasiodiplodia sp. ในเปลือกลำไยที่ระยะเวลาการเก็บรักษาต่างๆ และไม่มีผลต่อการสูญเสียน้ำหนัก และคุณภาพทางด้านประสาทสัมผัส สามารถลดการเกิดโรคหลังการเก็บเกี่ยว แต่ทำให้สีเปลือกนอกคล้ำลง

การทดสอบหาความเข้มข้นของไคโตซานโอลิโกเมอร์ที่เหมาะสมในการฉีดพ่นเพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อ Lasiodiplodia sp. โดยเพาะเชื้อบน potato dextrose agar (PDA) ที่ผสมสารละลายไคโตซานให้มีความเข้มข้น 0.05, 0.25, 0.5 และ 1% พบว่า ไคโตซานโอลิโกเมอร์ 1% สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Lasiodiplodia sp. ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อนำไคโตซานโอลิโกเมอร์ 0.5 และ 1% ไปฉีดพ่นให้ลำไยพันธุ์ดอก่อนการเก็บเกี่ยว สามารถชักนำหรือกระตุ้นให้เปลือกลำไย สร้างสารยับยั้งการเจริญเชื้อ Lasiodiplodia sp. ได้ แต่ไม่มีผลต่อกิจกรรมของเอนไซม์ไคติเนสของเปลือกลำไย เมื่อถึงระยะเก็บเกี่ยว นำผลลำไยไปเก็บรักษาที่ 10 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 วัน พบว่า ลำไยที่ผ่านการฉีดพ่นด้วยไคโตซานโอลิโกเมอร์มีการเกิดโรคน้อยกว่า