ผลของปุ๋ยไนโตรเจนต่อการเจริญเติบโต ผลผลิต คุณภาพการสีและปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระของเมล็ดข้าวในช่วงระยะเวลาการเก็บรักษา
กมลทิพย์ เรารัตน์
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) พืชไร่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 159 หน้า. 2551.
2551
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลของปุ๋ยไนโตรเจนที่มีต่อการเจริญเติบโสต ผลผลิต คุณภาพการสีและการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในรำข้าวภายใต้การเก็บรักษาข้าวเปลือก โดยทำการทดลอง ณ แปลงปฏิบัติการภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการศึกษาในฤดูปลูกโดยในปีที่ 1ทำการศึกษาในช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2549วางแผนการทดลองแบบ Split-plot design 3ซ้ำ กำหนดให้ Mainplot เป็นพันธุ์ข้าว 3พันธุ์ ได้แก่ หอมนิล (ข้าวเจ้า) Number 16815 (ข้าวเหนียว) ซึ่งทั้งสองพันธุ์เป็นพันธุ์ข้าวก่ำ และหอมสกล (ข้าวเหนียว) ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวขาว และมี Subplot เป็นอัตราปุ๋ยไนโตรเจน 3อัตรา ได้แก่ 8, 16และ 24กก.ไนโตรเจน/ไร่ ในปีที่ 2ทำการศึกษาในช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2550วางแผนการทดลองแบบ Split-plot design จำนวน 3ซ้ำ กำหนดให้ Mainplot เป็นอัตราปุ๋ยไนโตรเจน 3อัตรา ได้แก่ 8, 16และ 24กก.ไนโตรเจน/ไร่ และมี Subplot เป็นพันธุ์ข้าว 2พันธุ์ ได้แก่ Number 16815และหอมสกล
จากผลการศึกษาพบว่า ข้าวพันธุ์ Number 16815ต้องการอุณหภูมิสะสมเพื่อพัฒนาจากระยะแตกกอถึงระยะสุกแก่ทางสีรระสูงกว่าพันธุ์หอมสกลและหอมนิล โดยข้าวพันธุ์ Number 16815มีระยะเวลาการเจริญเติบโตจากระยะปักดำถึงระยะสุกแก่ทางสรีระเฉลี่ย 120วัน พันธุ์หอมสกล เฉลี่ย 88วัน และพันธุ์หอมนิล เฉลี่ย 82วัน ตามลำดับ ข้าวพันธุ์หอมสกลให้ผลผลิตเฉลี่ย 897กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งมากกว่าพันธุ์หอมนิลและ Number 16815 (577และ 543กิโลกรัมต่อไร่) ตามลำดับ ทั้งนี้เพราะข้าวพันธุ์หอมสกลจำนวนรวงต่อกอ (10รวง) และจำนวนเมล็ดดีต่อรวงและน้ำหนัก 1,000เมล็ด (144เมล็ดและ 28.05กรัม) สูง ในขณะที่พันธุ์หอมนิลมีจำนวนเมล็ดดีต่อรวงเพียง 100เมล็ดและมีน้ำหนัก 1,000เมล็ด 21.18กรัม ส่วนพันธุ์ Number 16815มีจำนวนรวงต่อกอ 6รวง การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนพบว่าไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต ผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิตของข้าว ส่วนปริมาณคลอโรฟิลล์ในใบข้าวพบว่าอัตราปุ๋ยไนโตรเจนมีผลต่ออัตราการเพิ่มขึ้นของคลอโรฟิลล์ในใบข้าวที่ระยะกำเนิดช่อดอกและระยะออกรวง
ในการศึกษาคุณภาพการสีในปีที่ 1พบว่า เปอร์เซ็นต์ข้าวต้นของข้าวแต่ละพันธุ์ที่ถูกเก็บรักษาไว้นานทุกๆ 2สัปดาห์แล้วทยอยนำมาขัดสีเป็นระยะเวลา 3เดือน เปอร์เซ็นต์ข้าวต้นของข้าวทั้ง 3พันธุ์เริ่มลดลงภายหลังการเก็บรักษา 42วัน ส่วนการศึกษาคุณภาพการสีในปีที่ 2พบว่า ข้าวพันธุ์หอมสกล ให้เปอร์เซ็นต์ข้าวต้นสูงกว่าพันธุ์ Number 16815โดยเปอร์เซ็นต์ข้าวต้นอยู่ในช่วง 48%-52% ในข้าวพันธุ์หอมสกล และ 34%-36%ในข้าวพันธุ์ Number 16815ในช่วงเก็บรักษาและทำนองเดียวกันไม่พบว่าไนโตรเจนมีผลต่อเปอร์เซ็นต์ข้าวต้น
สำหรับการศึกษาการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในรำข้าวพบว่า ข้าวพันธุ์หอมสกลมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าพันธุ์ Number 16815 และข้าวทั้ง 2 พันธุ์มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในระหว่างการเก็บรักษาโดยสูงขึ้นภายหลังจากการเก็บรักษา 14 วัน และมีค่าสูงสุดอยู่ในช่วง 30-40 วันหลังการเก็บรักษาและมีแนวโน้มลดลง นอกจากนั้นยังพบว่าข้าวพันธุ์ Number 16815 มีปริมาณฟีนอลิคทั้งหมดสูงกว่าข้าวพันธุ์หอมสกล และในระหว่างการเก็บรักษาข้าวพันธุ์หอมสกลมีแนวโน้มของปริมาณสารฟีนอลิคทั้งหมดลดลงภายหลังการเก็บรักษา ส่วนพันธุ์ Number 16815 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังการเก็บรักษา 14 วัน การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนพบว่าไม่มีผลต่อการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปริมาณฟีนอลิคทั้งหมด