ผลของอุณหภูมิต่ำต่อเลนติเซลของผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้
เสาวนีย์ แก้วพระเวช
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 121 หน้า. 2551.
2551
บทคัดย่อ
การศึกษาลักษณะและพัฒนาการของเลนติเซลบนผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองและพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4ในช่วงการเจริญของผลระยะต่างๆ พบว่าสามารถจำแนกขนาดของเลนติเซลออกเป็นระยะต่างๆ ได้ทั้งหมด 4ระยะ ได้แก่ ระยะ 0, 1, 2 และ 3ซึ่งมีขนาดเท่ากับ 0.04, 0.07, 0.13และ 0.21มิลลิเมตร ตามลำดับ ในผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองและ 0.04, 0.07, 0.12และ 0.20 มิลลิเมตร ตามลำดับในผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4อีกทั้งพบว่าผลมะม่วงที่อายุ 50วัน หลังจากดอกบาน มีความหนาแน่นของเลนติเซลเฉลี่ยทุกระยะสูงสุด ในขณะที่ผลมะม่วงอายุ 110วัน หลังจากดอกบาน มีความหนาแน่นของเลนติเซลน้อยที่สุดและพบเลนติเซลระยะ 0 มากที่สุดในทุกช่วงการเจริญของผล แต่จะลดลงเมื่อผลมะม่วงมีอายุมากขึ้น นอกจากนี้ได้นำผลมะม่วงมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่างๆ ได้แก่ 5, 8 และ 13องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85±2, 87±3 และ 90±3 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 30 วัน พบว่าผลมะม่วงที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5องศาเซลเซียส เป็นเวลา 21วัน มีค่าความหนาแน่นของเลนติเซลสูงสุดรองลงมาคือที่ 8และ 13องศาเซลเซียส ตามลำดับ สำหรับผลมะม่วงที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5องศาเซลเซียส พบความผิดปกติของผิวคือเลนติเซลปรากฏเด่นชัดมากขึ้นและมีสีเปลือกเปลี่ยนไป และพบเลนติเซลระยะ 3 ที่ผิวผลมากที่สุด เมื่อตรวจดูภายใต้ stereomicroscope โดยเลนติเซลเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเป็นสีดำและพบแกรนูลภายในเนื้อเยื่อที่ตัดขวาง สำหรับออแกแนลที่ตรวจดูภายใต้กล้อง transmission electron microscope (TEM) พบว่านิวคลีโอพลาซึมมีลักษณะที่ผิดปกติ ไม่พบไมโตคอนเดรียและมีผนังเซลล์หนาขึ้น