บทคัดย่องานวิจัย

การใช้สารสกัดจากพืชร่มกับ chitosan ในการควบคุมเพลี้ยไฟศัตรูเบญจมาศในแปลงปลูกและหลังเก็บเกี่ยว

กฤติญา แสงภักดี

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (กีฏวิทยา) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 95 หน้า. 2551.

2551

บทคัดย่อ

การใช้สารสกัดจากพืชร่มกับ chitosan ในการควบคุมเพลี้ยไฟศัตรูเบญจมาศในแปลงปลูกและหลังเก็บเกี่ยว

ปัญหาหลักของการผลิตเบญจมาศคือการทำลายของแมลงศัตรูพืชหลายชนิดโดยเฉพาะเพลี้ยไฟ  การป้องกันกำจัดส่วนใหญ่เกษตรกรมักใช้สารฆ่าแมลง  ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม  การใช้สารเคมีธรรมชาติจึงเป็นทางเลือกเพื่อทดแทนหรือลดปริมาณการใช้สารเคมีที่อันตราย  การศึกษาการใช้สารสกัดจากพืชเปรียบเทียบกับสารฆ่าแมลงเพื่อควบคุมเพลี้ยไฟ Microcephalothrips  abdominalis  Crawford   ในแปลงเบญจมาศของเกษตรกร  อำเภอวังน้ำเขียว  จังหวัดนครราชสีมา  รวมถึงศักยภาพในการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

ทำการทดลอง  2  ฤดูปลูกคือ  ฤดูปลูกที่  1  พฤศจิกายน  2548-กุมภาพันธ์  2549  และฤดูปลูกที่  2  ตุลาคม  2549-มกราคม  2550  วางแผนการทดลองแบบ  Randomized  Complete  Block  Design  จำนวน  4  ซ้ำ  ขนาดแปลงทดลอง  3x20  เมตร  กรรมวิธีที่ใช้ได้แก่  สารสกัดเมล็ดสะเดา  (Azadirachta indica var. siamensis  Valuton.)  ร่วมกับ  chitosan   สารสกัดรากหางไหลแดง  (Derris elliptica Benth) ร่วมกับ  chitosan, imidacloprid  (Confidor  100  SL), spinosad  (Success  120  SC)  และน้ำเปล่า  (ชุดควบคุม)  เป็นกรรมวิธีเปรียบเทียบ  สำหรับฤดูปลูกที่  1  พ่นสารทุก  7  วัน  และฤดูปลูกที่  2  พ่นสารทุก  3  วัน  สุ่มตรวจนับจำนวนแมลงก่อน  และหลังพ่นสาร  1  วัน 

ผลการศึกษาฤดูปลูกที่  1  พบว่า  จำนวนเพลี้ยไฟมีความแตกต่างกันทางสถิติ  โดยแปลงทดลองที่ใช้สาร  imidacloprid  มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด  0.43  ตัวต่อต้น  เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ใช้น้ำเปล่า  ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด  คือ  1.09  ตัวต่อต้น  นอกจากนี้แปลงทดลองที่ใช้สาร  imidacloprid  และspinosad  สามารถลดจำนวนแมลงศัตรูพืชชนิดอื่นได้  คือเพลี้ยอ่อน  (Macrosiphoniella  sanborni Gillette)  หนอนกระทู้ผัก  (Spodoptera litura Fabricius)  และหนอนเจาะสมอฝ้าย  (Heliothis amigera Hübner)  โดยเฉพาะแปลงทดลองที่ใช้สาร  imidacloprid  ยังส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของเบญจมาศ  ในด้านขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม  และเส้นผ่าศูนย์กลางโคนต้น  ส่วนฤดูปลูกที่  2  พบว่า  ผลการทดลองทั้งหมดโดยสรุปแล้วมีแนวโน้มในทางเดียวกันกับการศึกษาในฤดูปลูกที่  1 

การทดสอบการลดปริมาณเพลี้ยไฟ  และผลต่ออายุการปักแจกันหลังการเก็บเกี่ยว  โดยใช้  2  วิธีคือ  การพ่นช่อดอก  และการจุ่มช่อดอก  ด้วยสารที่ใช้ทดสอบในระดับความเข้มข้นต่างๆ  ได้แก่  สารสกัดสะเดา  สารสกัดหางไหลแดง  สารสกัดว่านหางจระเข้  chitosan  น้ำส้มควันไม้  imidacloprid,  spinosad  และน้ำเปล่า  เป็นกรรมวิธีเปรียบเทียบ  วางแผนการทดลองแบบ  Factorial  ใน  CRD  จำนวน  3  ซ้ำ  จากการทดลองในฤดูปลูกที่  1และฤดูปลูกที่  2  พบว่ากรรมวิธีการพ่นช่อดอก  imidacloprid  สามารถลดปริมาณเพลี้ยไฟได้ดีที่สุดคือ  100%  ที่เวลา  48  ชั่วโมง  ส่วนการทดสอบผลต่ออายุการปักแจกันโดยกรรมวิธีการพ่นช่อดอก  ในฤดูปลูกที่ 1และฤดูปลูกที่ 2 พบว่า  chitosan  มีผลสูงสุดต่ออายุการปักแจกันโดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  10.33  และ 13.66  วันตามลำดับ  ในขณะที่กรรมวิธีการจุ่มช่อดอกในฤดูปลูกที่ 1  พบว่า  spinosad  มีผลสูงสุดต่ออายุการปักแจกันโดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  9.00  วัน  และกรรมวิธีการจุ่มช่อดอกในฤดูปลูกที่ 2  น้ำส้มควันไม้มีผลสูงสุดต่ออายุการปักแจกันโดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  9.00  วัน  ทั้งนี้โดยทุกกรรมวิธีการทดลองมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (P>0.05)

การศึกษาในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า  การใช้สารเคมีสังเคราะห์สามารถควบคุมปริมาณเพลี้ยไฟได้ดีกว่าการใช้สารสกัดจากพืช  แต่อย่างไรก็ตามการใช้สารสกัดจากพืช  สามารถใช้ควบคุมปริมาณเพลี้ยไฟได้ในระดับหนึ่ง  เพื่อลดปัญหาการสร้างความต้านทานของแมลงต่อสารเคมีสังเคราะห์    รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มียู่ภายในท้องถิ่นอย่างรู้คุณค่า