การใช้แบคทีเรียที่มีคุณสมบัติผลิตเอนไซม์ไคติเนสร่วมกับ 1-MCP และ Active Packaging ในการควบคุมโรคขั้วหวีเน่าของกล้วยหอมทอง
กัลยา ศรีพงษ์
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 128 หน้า. 2551.
2551
บทคัดย่อ
การคัดแยกแบคทีเรียที่สามารถผลิตเอนไซม์ไคติเนสจากดินบ่อเลี้ยงกุ้ง สามารถคัดแยกแบคทีเรียได้ทั้งหมด 223 ไอโซเลต และบนอาหารเลี้ยงเชื้อ Chitin selective agar พบว่ามีแบคทีเรียจำนวน 21 ไอโซเลต ที่สามารถเจริญแล้วสร้างวงใสได้ โดยมีแบคทีเรีย 5 ไอโซเลต (A5 A23 C23 E9 และ F10) ที่สร้างวงใสขนาดใหญ่ คือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.1-1.6 เซนติเมตร เมื่อตรวจวัดกิจกรรมเอนไซม์ไคติเนส พบว่าแบคทีเรียไอโซเลตที่ A23 มีกิจกรรมของเอนไซม์ไคติเนสมากที่สุด (0.58 Unit/ml) และเมื่อทดสอบความสามารถของแบคทีเรียเหล่านี้ในการเป็นเชื้อปฏิปักษ์ต่อเชื้อราสาเหตุโรคขั้วหวีเน่าของกล้วยหอมทอง ได้แก่ Colletotrichum musae Lasiodiplodia theobromae และ Fusarium sp. ด้วยวิธี Spot inoculation พบว่าแบคทีเรียไอโซเลตที่ A23 สามารถยับยั้งการเจริญทางเส้นใยเชื้อรา C. musae ได้เพียงเชื้อเดียว และสามารถยับยั้งการงอกของสปอร์เชื้อรา C. musae ได้ดีกว่า Fusarium sp. และ L. theobromea ตามลำดับ เมื่อศึกษาลักษณะโครงสร้างของเส้นใยเชื้อราที่เลี้ยงร่วมกับแบคทีเรียไอโซเลต A23 ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ พบว่าแบคทีเรียไอโซเลต A23 มีผลทำให้เส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคมีลักษณะบวมพอง ขรุขระ เส้นใยไม่ยืดยาว และมีจำนวนเซลล์ของแบคทีเรียเข้าเกาะบริเวณเส้นใยของเชื้อราเป็นจำนวนมาก จากการจำแนกแบคทีเรียไอโซเลต A23 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าเป็นแบคทีเรีย Bacillus cereus และเมื่อนำมาทดสอบควบคุมโรคขั้วหวีเน่าโดยทาขั้วหวีกล้วยหอมทองด้วยน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) B. cereus A23 (5 x 108 เซลล์/มิลลิลิตร) รม 1-MCP (500 ppb) (สารเคมีที่มีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของเอทิลีน) และ B. cereus A23 ร่วมกับการรม 1-MCP บรรจุในถุง Active พบว่าการทาขั้วหวีด้วย B. cereus A23 ร่วมกับการรม 1-MCP และบรรจุในถุง Active สามารถควบคุมกรเกิดโรคขั้วหวีเน่าได้ดีกว่ากล้วยหอมทองที่ทาขั้วหวีด้วย B. cereus A23 หรือการรม 1-MCP เพียงอย่างเดียว และพบว่าการใช้ B. cereus A23 ทาที่ขั้วหวีกล้วยหอมทองก่อนการปลูกเชื้อราสาเหตุโรคสามารถควบคุมโรคขั้วหวีเน่าได้ดีกว่าการใช้ B. cereus A23 หลังการปลูกเชื้อราสาเหตุโรค ส่วนคุณภาพของกล้วยหอมทองหลังจากทาขั้วหวีด้วย B. cereus A23 ร่วมกับการรม 1-MCP และบรรจุในถุง Active พบว่าสามารถลดการหายใจ การผลิตเอทิลีน ความแน่นเนื้อ การเปลี่ยนแปลงสีเปลือก ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ และไม่มีผลกระทบต่อการสูญเสียน้ำหนัก การยอมรับของผู้บริโภคทั้งด้านสี กลิ่น รสชาติ และการยอมรับโดยรวม