ผลของอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์และสารเคลือบผิวที่รับประทานได้ต่อคุณภาพระหว่างการเก็บรักษาของผลมะเฟือง (Averrhoa carambola L.)
เบญจมาพร มธุลาภรังสรรค์
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 105 หน้า. 2551.
2551
บทคัดย่อ
มะเฟือง (Averrhoa carambola L.) เป็นผลไม้เขตร้อนที่สูญเสียน้ำได้ง่ายและเกิดการอ่อนตัวอย่างรวดเร็วหลังการเก็บเกี่ยว ในการศึกษาครั้งนี้ได้นำผลมะเฟืองมาเก็บที่อุณหภูมิ 10, 13และ 25องศาเซลเซียส เพื่อหาอุณหภูมิที่เหมาะสม พบว่าการเก็บที่อุณหภูมิ 10และ 13องศาเซลเซียส สามารถช่วยชะลอการลดลงของความแน่นเนื้อ การเปลี่ยนแปลงสี การสูญเสียน้ำหนัก และอัตราการหายใจของผลได้ แต่ผลมะเฟืองที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10องศาเซลเซียส มีการสูญเสียวิตามินซีและมีปริมาณ malondialdehyde (MDA) น้อยกว่าที่ 13องศาเซลเซียส นอกจากนี้ การเก็บรักษาผลมะเฟืองที่อุณหภูมิ 10องศาเซลเซียสร่วมกับความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 70-75ชะลอการลดลงของความแน่นเนื้อ การเปลี่ยนแปลงสีและอัตราการหายใจได้ดีกว่าการเก็บที่ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90-95 แต่มีอาการแห้งบริเวณผิวเกิดเป็นสะเก็ดสีขาวทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ทำให้มีอายุการเก็บรักษาสั้นกว่าการเก็บรักษาที่ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90-95
การเคลือบผิวมะเฟืองด้วยไคโตซาน (ความเข้มข้นร้อยละ 0.2 และ 1.0) หรือ sucrose - fatty acid ester (SFE)(ความเข้มข้นร้อยละ 0.5 และ 1.5) หรือวางบนถาดโฟมแล้วหุ้มฟิล์มพลาสติก PVC แล้วนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90-95 สามารถชะลอการสูญเสียวิตามินซีและการสูญเสียน้ำหนักได้ดีกว่ามะเฟืองที่ไม่ได้ผ่านการเคลือบผิวด้วยสารเคลือบและไม่ได้หุ้มฟิล์มพลาสติก แต่อัตราการผลิตเอทิลีนของผลมะเฟืองที่การเก็บรักษาบนถาดโฟมหุ้มด้วยฟิล์มพลาสติก PVC ไม่แตกต่างจากชุดควบคุม และพบว่าผลมะเฟืองที่เคลือบผิวด้วยไคโตซานความเข้มข้นร้อยละ 0.2 และ SFE ความเข้มข้นร้อยละ 0.5 และ 1.5 เกิดการลอกของสารเคลือบที่ผิวบนผลระหว่างการเก็บรักษา การเก็บผลมะเฟืองบนถาดโฟมหุ้มฟิล์มพลาสติก PVC ให้ค่าการยอมรับจากผู้บริโภคมากกว่าผลมะเฟืองที่เคลือบผิวด้วยไคโตซานความเข้มข้นร้อยละ 1.0 โดยทั้งสองทรีตเมนต์มีอายุการเก็บรักษาประมาณ 3 สัปดาห์