บทคัดย่องานวิจัย

ผลของเอทธิฟอน และ 1-MCP ต่อการสลายตัวของคลอโรฟิลล์ในผักชีตัดแต่งพร้อมบริโภค

ลัดดาวัลย์ คำมะปะนา

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 135 หน้า. 2551.

2551

บทคัดย่อ

ผลของเอทธิฟอน และ 1-MCP ต่อการสลายตัวของคลอโรฟิลล์ในผักชีตัดแต่งพร้อมบริโภค

การศึกษาผลของสารละลายเอทธิฟอนซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการปลดปล่อยก๊าซเอทธิลีน ที่ระดับความเข้มข้น 0 (ชุดควบคุม) 1 10 100 500 และ 1000 ppm ต่อคุณภาพของผักชีตัดแต่งพร้อมบริโภคในระหว่างการเก็บรักษาในกล่องพลาสติกใส ชนิด Clam shell  ที่อุณหภูมิ  10  องศาเซลเซียส พบว่า สารละลายเอทธิฟอนความเข้มข้น 1000 ppm  กระตุ้นให้ผักชีเกิดการเหลือง เนื่องจากมีการสูญเสียคลอโรฟิลล์และมีการเพิ่มขึ้นของแคโรทีนอยด์ นอกจากนี้สารละลายเอทธิฟอนความเข้มข้น 1000 ppm   ยังกระตุ้นอัตราการหายใจ  การผลิตเอทิลีน และกิจกรรมของเอนไซม์ ACC oxidase  Chlorophyllase  และ  Mg-dechelatase ในผักชีให้สูงขึ้น สำหรับการรมผักชีโดยการใช้สารยับยั้งเอทธิลีน คือ 1-methylcyclopropene (1-MCP)  ที่ระดับความเข้มข้น 0 (ชุดควบคุม)  100  200  300  400 และ 500 ppb ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 ชั่วโมง  แล้วเก็บรักษาในกล่องพลาสติกใส ชนิด Clam shell  ที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส  พบว่า การรมด้วย 1-MCP ความเข้มข้น 500 ppb  สามารถชะลอการเหลืองของใบผักชี  ลดการสูญเสียคลอโรฟิลล์และการเพิ่มขึ้นของแคโรทีนอยด์  นอกจากนี้ยังมีผลต่อการลดอัตราการผลิตเอทธิลีน และลดกิจกรรมของเอนไซม์ ACC oxidase Chlorophyllase Mg-dechelatase และ Chlorophyll  degrading  peroxidase  แต่อย่างไรก็ตามการรมผักชีด้วย 1-MCP ไม่มีผลต่ออัตราการหายใจ  ส่วนการศึกษาการใช้สารละลายเอทธิฟอน ร่วมกับ 1-MCP   โดยใช้เอทธิฟอนที่ความเข้มข้น 1000 ppm   และ 1-MCP ความเข้มข้น 500 ppb แล้วเก็บรักษาผักชีในกล่องพลาสติกใส ชนิด Clam shell   ที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส พบว่า การรม 1-MCP เพียงอย่างเดียว   การรม 1-MCP ก่อนการจุ่มเอทธิฟอน    และการจุ่มเอทธิฟอนก่อนการรม 1-MCP  สามารถชะลอการเหลืองของใบผักชี  ชะลอการสลายตัวของคลอโรฟิลล์และการเพิ่มขึ้นของแคโรทีนอยด์  เนื่องจากการรม 1-MCP เพียงอย่างเดียว   การรม 1-MCP ก่อนการจุ่มเอทธิฟอนหรือการจุ่มเอทธิฟอน ก่อนการรม 1-MCP สามารถลดอัตราการผลิตเอทธิลีน  และลดกิจกรรมของเอนไซม์ ACC oxidase  Chlorophyllase  Mg-dechelatase และ Chlorophyll degrading peroxidase จากการศึกษาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า เอทธิลีนจากสารละลายเอทธิฟอนสามารถกระตุ้นการเหลืองของใบผักชี  ในขณะที่สาร 1-MCP มีบทบาทในการชะลอการเหลืองของใบ