บทคัดย่องานวิจัย

การใช้คลื่นความถี่วิทยุในการควบคุมมอดแป้ง Tribolium castaneum (Herbst) ในอาหารสัตว์

กรรณิการ์ บัวลอย

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 47 หน้า. 2552.

2552

บทคัดย่อ

การใช้คลื่นความถี่วิทยุในการควบคุมมอดแป้ง Tribolium castaneum (Herbst) ในอาหารสัตว์

คลื่นความถี่วิทยุ (radio frequency) ถูกนำมาใช้ควบคุมมอดแป้ง Tribolium castaneum (Herbst) ซึ่งเป็นแมลงศัตรูในโรงเก็บที่เข้าทำลายเมล็ดธัญพืชที่แตก หรือถูกทำลายจากแมลงชนิดอื่นและผลิตภัณฑ์จากเมล็ดธัญพืช รวมทั้งอาหารสัตว์สำเร็จรูป ในการทดลองแรกทำการสำรวจปริมาณมอดแป้งที่ปนเปื้อนในตัวอย่างอาหารไก่ผสมสำเร็จรูปชนิดเม็ด จำนวน 5 ถุง ๆ ละ 1 กิโลกรัม พบมอดแป้งทุกระยะการเจริญเติบโตปนเปื้อนในอาหารไก่ โดยพบหนอนของมอดแป้งจำนวนมากที่สุดโดยเฉลี่ย 43.20±63.1 ตัวต่อกิโลกรัม รองลงมาคือไข่ ตัวเต็มวัย และดักแด้ จำนวน 17.60±29.5, 8.40±11.0 และ 5.80±8.1 ตัวต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ซึ่งปริมาณของมอดแป้งที่ปนในอาหารไก่แต่ละถุงมีแตกต่างกัน และกระจายอยู่ทั่วไป การทดลองที่สอง ได้นำมอดแป้งทุกระยะการเจริญเติบโตปนกับอาหารไก่มาผ่านคลื่นความถี่วิทยุ 27.12 MHz ระดับอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 นาที พบว่ามอดแป้งระยะไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยตาย 81.98±3.8, 92.16±4.0, 72.99±3.3 และ91.58±1.7 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สรุปได้ว่าดักแด้เป็นระยะที่มีความทนทานต่อคลื่นความถี่วิทยุมากที่สุด การทดลองที่สาม นำดักแด้ของมอดแป้งผ่านคลื่นความถี่วิทยุระดับอุณหภูมิ 50, 55, 60 และ  70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1, 2, 3, 4 และ 5 นาที พบว่าดักแด้ตาย 100 เปอร์เซ็นต์ ที่อุณหภูมิ 70องศาเซลเซียส ในระยะเวลาที่ต่ำที่สุดคือ 1 นาทีเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม การตายของดักแด้ที่ผ่านคลื่นความถี่วิทยุที่ระดับอุณหภูมิ 60 และ 70 องศาเซลเซียส ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิตินอกจากนี้คลื่นความถี่วิทยุที่ระดับอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอาหารไก่ ตามวิธีการวิเคราะห์อาหารสัตว์แบบเชิงประมาณ (proximate analysis) โดยมีค่าเปอร์เซ็นต์ ความชื้น เถ้า โปรตีน ไขมัน เยื่อใย และสารสกัดที่ปราศจากไนโตรเจน ก่อน และหลังการผ่านคลื่นความถี่วิทยุไม่แตกต่างกัน