บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการใช้คลื่นความถี่วิทยุต่อมอดหัวป้อม Rhyzopertha dominica (F.) และคุณภาพของข้าวสารพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ผู้แต่ง

กฤษณา สุเมธะ

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 69 หน้า. 2552.

2552

บทคัดย่อ

ผลของการใช้คลื่นความถี่วิทยุต่อมอดหัวป้อม Rhyzopertha dominica (F.) และคุณภาพของข้าวสารพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ผู้แต่ง

ผลการใช้คลื่นความถี่วิทยุต่อมอดหัวป้อม Rhyzopertha dominica (Fabricius) (Coleoptera: Bostrichidae)ได้ทำการทดลองในข้าวสารพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ณ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย จากการทดลองที่ 1 ศึกษาความทนทานของมอดหัวป้อมต่อคลื่นความถี่วิทยุในระยะไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยโดยนำไปผ่านคลื่นความถี่วิทยุ 27.12 MHz ใช้อุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิที่ทำให้แมลงทุกระยะตายหมด คืออุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 180 วินาที พบว่าการตายของ ดักแด้ หนอน และไข่ อยู่ที่ 86.56, 92.30 และ 99.10 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ส่วนการตายของตัวเต็มวัยอยู่ที่ 38.33  เปอร์เซ็นต์ ในการทดลองที่ 2 ใช้คลื่นความถี่วิทยุที่อุณหภูมิ 4 ระดับ (55, 60, 65 และ 70 องศาเซลเซียส) ในระยะเวลา 60, 90, 120, 150 และ 180 วินาที (20 การทดลอง) พบว่าเมื่ออุณหภูมิและระยะเวลาในการผ่านคลื่นความถี่วิทยุเพิ่มขึ้น การตายของมอดหัวป้อมเพิ่มขึ้น ผลการทดลองพบว่าคลื่นความถี่วิทยุที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 150 และ 180 วินาที ทำให้มอดหัวป้อมตายอย่างสมบูรณ์ (100 เปอร์เซ็นต์) ในการทดลองสุดท้าย ได้ตั้งสมมติฐานว่า คลื่นความถี่วิทยุอาจให้ความร้อนแตกต่างกันไปเมื่อตำแหน่งของแมลงที่ปะปนไปกับข้าวสารหรือในถุงบรรจุข้าวแตกต่างกัน ซึ่งระยะไข่ หนอน และดักแด้ของมอดหัวป้อมอาจจะติดมากับข้าวหรือถุงบรรจุข้าวและยากต่อการมองเห็น ระยะดักแด้ถือเป็นตัวแทนของระยะการเจริญเติบโตอื่น ๆ ที่นำมาผ่านคลื่นความถี่  วิทยุที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 150 วินาที โดยนำมาวางในตำแหน่งที่ต่างกัน ได้แก่ 1จุด กลางภาชนะ และ 4 จุดขอบภาชนะในตำแหน่งบน กลาง และล่างของภาชนะ ผลการทดลองพบว่า การตายของมอดหัวป้อม ณ ตำแหน่งเหล่านี้ไม่มีความแตกต่างกัน การวัดคุณภาพข้าวสาร พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ที่ผ่านคลื่นความถี่วิทยุ 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 150 วินาที พบว่าความชื้นของข้าวลดลงเล็กน้อย ปริมาณอะไมโลสเพิ่มสูงขึ้น ข้าวสารเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเล็กน้อย และปริมาณสารหอม 2-acetyl-1- pyrroline (2AP) ลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามคุณสมบัติทั้งหมดยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสินค้าข้าวหอมมะลิไทย