การประเมินสเกลการวัดความเหนื่อยล้าในกลุ่มผู้บริโภคที่ต่างวัฒนธรรม
กฤษดา ค้าเจริญ
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เทคโนโลยีอาหาร) คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 223 หน้า. 2552.
2552
บทคัดย่อ
ความเหนื่อยล้าในทางการแพทย์สามารถวัดได้จากการใช้สเกลชนิดต่างๆ เช่น verbal, numerical หรือ visual analogue scales การวัดความเหนื่อยล้าโดยใช้สเกลในรูปแบบของ visual analogue ได้ถูกพัฒนาและทดสอบว่ามีความน่าเชื่อถือและความแม่นตรง อย่างไรก็ตามยังไม่เคยมีการใช้สเกลในรูปแบบของ labeled magnitude สำหรับวัดความเหนื่อยล้าในกลุ่มผู้ทดสอบที่ไม่ใช่ผู้ป่วย ดังนั้นในการวิจัยนี้จึงได้พัฒนา Labeled Magnitude Fatigue Scale (LMFS) โดยใช้ค่าเฉลี่ยจีโอเมตริกซ์ (geometric means) ในการระบุความเหนื่อยล้า 8ระดับ เพื่อเปรียบเทียบกับ Visual Analogue Fatigue Scale (VAFS) พารามิเตอร์ที่ใช้ในการทดสอบความน่าเชื่อถือของสเกลแบบ internal consistency และ test-retest reliability ได้แก่ Cronbach’s alpha (α) และ Pearson’s correlation coefficient (r) ตามลำดับ สำหรับความแม่นตรงของสเกลทำได้โดยการเทียบค่าความเหนื่อยล้าที่ได้กับการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาต่างๆ ในงานวิจัยนี้ใช้กลุ่มตัวแทนผู้บริโภคในการทดสอบความน่าเชื่อถือและความแม่นตรงของสเกลวัดความเหนื่อยล้าทั้งสองแบบ
ในขั้นต้นคำถามที่เกี่ยวข้องกับความเหนื่อยล้า 41ประเด็นได้ถูกสร้างขึ้นและทำการคัดเลือกเหลือ 25ประเด็นคำถาม โดยใช้การทดสอบความแม่นตรงแบบ face validity จากนั้น เทคนิคผ้าปูโต๊ะ (napping technique) ได้นำมาใช้เพื่อพิจารณาว่า กลุ่มตัวแทนผู้บริโภคที่ต่างวัฒนธรรมรับรู้ประเด็นคำถามในเชิงที่สัมพันธ์กันกับความหมายของความเหนื่อยล้าอย่างไร ผลจากผังผ้าปูโต๊ะ (napping maps) ที่ได้จากกลุ่มตัวแทนผู้บริโภคชาวไทยและแคนาดา แสดงผลที่คล้ายคลึงกัน โดยคำถาม 25ประเด็นได้ถูกรับรู้ในสองมิติคือความเหนื่อยล้าทางกายและทางใจ จากนั้นคำถาม 25ประเด็นเหล่านี้ได้ถูกนำมาทดสอบและลดลงเหลือเพียง 13ประเด็นคำถาม จากการประเมินของกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย (350คน) และแคนาดา (150คน) โดยใช้วิธีการคำนวณค่า item-total correlations, Cronbach’s alpha และ item-loading จากการวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก (Principle Component Analysis; PCA) ผลที่ได้คือคำถามเกี่ยวกับความเหนื่อยล้า 13ประเด็นได้ถูกรับรู้ต่างจากประเด็นที่เกี่ยวกับความเหนื่อยล้า 14คำถามในสเกลที่พัฒนาโดย Chalder และคณะ (1993) เนื่องจากบางประเด็นคำถาม เช่น ความรู้สึกอ่อนเพลียและอ่อนแรง ต้องการพักผ่อน ง่วงนอน และการหมดแรงและทำอะไรต่อไปไม่ไหว ถูกจัดให้เป็นความเหนื่อยล้าทางใจโดยกลุ่มตัวแทนผู้บริโภคทั้งสองกลุ่มสำหรับงาวิจัยนี้ แต่ในงานวิจัยของ Chalder และคณะจัดให้เป็นความเหนื่อยล้าทางกาย
จากนั้นสเกลวัดความเหนื่อยล้าทั้ง 13ประเด็นคำถามในรูปแบบของ LMFS และ VAFS ได้ถูกประเมินในสถานการณ์การออกกำลังกาย 6สภาวะ โดยกลุ่มตัวแทนผู้บริโภคชาวไทยและแคนาดาจำนวนกลุ่มละ 45คน ทำการทดสอบร่วมกับการวัดเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยา เช่นอัตราการเต้าของหัวใจและความดันโลหิต การทดสอบสเกลในขั้นสุดท้ายแสดงให้เห็นว่าชุดคำถามเกี่ยวกับความเหนื่อยล้า 13ประเด็นในรูปแบบของ LMFS ให้ค่าความน่าเชื่อถือของสเกล (internal consistency) (α=0.85สำหรับชาวไทย และ 0.81สำหรับชาวแคนาดา) สูงกว่าชุดคำถามในรูปแบบของ VAFS (α=0.81สำหรับชาวไทย และ 0.77สำหรับชาวแคนาดา) (p < 0.01) และการทดสอบสเกลครั้งสุดท้ายยังแสดงให้เห็นว่า ชุดคำถาม 13ประเด็นในรูปแบบของ LMFS ให้ความเนตรงเมื่อเทียบเคียงกับอัตราการเต้นของหัวใจ (r = 0.62สำหรับชาวไทยและ 0.56สำหรับชาวแคนนาดา) สูงกว่าชุดคำถามในรูปแบบของ VAFS ทั้งนี้ระดับความเหนื่อยล้าที่วัดได้จากสเกลทั้งสองแบบมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก ( r = 0.83สำหรับชาวไทย และ r =0.73สำรับชาวแคนนาดา)พบว่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนความเหนื่อยล้าที่วัดได้จากชุดคำถาม ในรูปแบบของ LMFS เป็นสเกลแบบชุดคำถาม (multi item scale) ที่มีความน่าเชื่อถือและแม่นตรงในการวัดความเหนื่อยล้า โดยประเมินจากกลุ่มตัวแทนผู้บริโภคที่ต่างวัฒนธรรมทั้งสองกลุ่ม
เมื่อสเกล LMFS ถูกนำมาประยุกต์ใช้งานในการศึกษาผลของเครื่องดื่มตัวอย่างได้แก่น้ำดื่มและน้ำกล้วยที่มีต่อการลดความเหนื่อยล้า โดยการทดสอบกับกลุ่มตัวแทนผู้บริโภคชาวไทย (n=45) ความน่าเชื่อถือสเกล(internal consistency) ทดสอบจากค่า Cronbach’s alpha ของคะแนนความเหนื่อยล้าที่ได้จากการทดสอบเครื่องดื่มตัวอย่าง(น้ำดื่ม น้ำกล้วยตัวอย่าง A และน้ำกล้วยตัวอย่าง B )และการทดสอบความน่าเชื่อถือของสเกลโดยการทดสอบซ้ำ (test-retest reliability) จากค่าสัมประสิทธิ์สหพันธ์ของคะแนนความเหนื่อยล้าทั้งสองซ้ำ จากการทดสอบเครื่องดื่มตัวอย่างทั้งสามชนิดพบว่า LMFS แสดงค่าความน่าเชื่อถือของเสกลในช่วงที่สูง (αในช่วง 0.89-0.90) และแสดงค่าความน่าเชื่อถือจากการทดสอบซ้ำที่สูงเช่นกัน (rในช่าง0.75-0.82) สำหรับการทดสอบความแม่นตรง ( criterion – related validity) ในการทดสอบน้ำดื่ม น้ำกล้วยตัวอย่าง A และน้ำกล้วยตัวอย่าง B พบว่าความเหนื่อยล้าสัมพันธ์กับความดันโลหิตเมื่อหัวใจลดต่ำ (systolic blood pressure) ในระดับปานกลาง ( r = 0.47,0.46และ 0.43ตามลำดับ) และมีค่าความสัมพันธ์กับอัตราการเต้นของหัวใจในระดับสูง (r = 0.62,0.66และ 0.65ตามลำดับ)
หลังการดื่มน้ำกล้วยทั้งสองตัวอย่าง ค่าคะแนนความเหนื่อยล้าโดยเฉลี่ยลดลงมากกว่าการดื่มน้ำดื่ม ค่าคะแนนความชอบ ความยินดีที่จะจ่าย และราคาที่คาดว่าจะจ่ายให้แก่เครื่องดื่มที่ทดสอบจากกลุ่มตัวแทนผู้บริโภคแก่น้ำกล้วยทั้งสองตัวอย่างมีค่ามากกว่าน้ำดื่ม (p < 0.01) ค่าคะแนนความเหนื่อยล้าโดยเฉลี่ยแสดงความสัมพันธ์แบบผกผันกับค่าคะแนนความชอบและความยินดีที่จะจ่ายโดยเฉลี่ย [ r=-0.22(p < 0.01)และ-0.02, (p < 0.01)ตามลำดับ] แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับราคาที่คาดว่าจะจ่ายเป็นไปได้ว่าเครื่องดื่มที่ลดความเหนื่อยล้าได้มากกว่าจะเป็นที่ชื่นชอบและผู้บริโภคยอมที่จะจ่ายมากกว่าเมื่อทำการจัดกลุ่มตัวแทนผู้บริโภคเป็นกลุ่มที่มีความเหนื่อยล้าระดับสูงและต่ำพบว่าไม่มีเครื่องดื่มตัวอย่างใดมีผลต่อการลดความเหนื่อยล้าสำหรับกลุ่มที่มีความเหนื่อยล้าต่ำ แต่ในกลุ่มที่มีความเหนื่อยล้าสูง เครื่องดื่มน้ำกล้วยทั้งสองตัวอย่างมีผลต่อการลดความเหนื่อยล้ามากกว่าน้ำดื่มการค้นพบนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแบ่งกลุ่มผู้บริโภคในตลาดเครื่องดื่มต่อไป
โดยสรุป สเกลวัดความเหนื่อยล้าตนเองแบบหลายประเด็นคำถามที่พัฒนาขึ้นใหม่คือ LMFS (13ประเด็น) ถูกทดสอบและตรวจสอบว่า มีความน่าเชื่อถือและมีความแม่นตรงมากกว่าสเกลวัดความเหนื่อยล้าในรูปแบบดั้งเดิม VASอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผลการทดสอบนี้เป็นจริงกับการทดสอบกับกลุ่มตัวแทนผู้บริโภคที่ต่างวัฒนธรรมทั้งสองแบบ นอกจากนี้ อาหาร สรีระวิทยา และอารมณ์ ถูกพบว่ามีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันจากกรณีศึกษาผลของเครื่องดื่มตัวอย่างต่อการลดความเหนื่อยล้านี้ ในงานวิจัยต่อไป น่าจะศึกษาเปรียบเทียบสเกลที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้กับสเกลวัดความเหนื่อยล้าต่างๆที่นิยมใช้วัดความเหนื่อยล้าในกลุ่มผู้ป่วยนอกจากนี้ การวัดการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาอื่นๆ เช่น ระดับน้ำตาลในโลหิต และดัชนีโกลซีมิค(Glycemic index) น่าเป็นประโยชน์ในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับความเหนื่อยล้าที่เกิดกับ อารมณ์ด้วย