บทคัดย่องานวิจัย

การวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์ของโซ่อุปทานข้าวโพดฝักอ่อนในเขตจังหวัดนครปฐม

รุจิรา เอี่ยมสร้าง

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 117 หน้า. 2552.

2552

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์ของโซ่อุปทานข้าวโพดฝักอ่อนในเขตจังหวัดนครปฐม

การวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์ของโซ่อุปทานข้าวโพดฝักอ่อนในเขตจังหวัดนครปฐม โดยการใช้แบบสอบถามและสัมภาษณ์เชิงลึกในการรวบรวมข้อมูลของเกษตรกรและผู้รวบรวมข้าวโพดฝักอ่อนในเขตจังหวัดนครปฐมพบว่า โซ่อุปทานของข้าวโพดฝักอ่อนในเขตจังหวัดนครปฐม มีหน่วยงานเกี่ยวข้องอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ผู้รวบรวมข้าวโพดฝักอ่อน และโรงคัดบรรจุ โดยในส่วนเกษตรกรมีกิจกรรมหลักๆ คือ การจัดหาวัสดุปลูก การเตรียมแปลงปลูก การปลูกและการดูแลรักษาแปลงปลูก การเก็บเกี่ยวและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ในส่วนผู้รวบรวมมีกิจกรรมหลักๆ คือ รวบรวมผลผลิตและขนส่งไปยังโรงคัดบรรจุ และในส่วนโรงคัดบรรจุมีกิจกรรมหลักๆ คือ แปรรูปผลผลิตเพื่อจำหน่าย นอกจากนี้ พบว่า เกษตรกรพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่เป็นลูกไร่บริษัท มีผลผลิตต่อไร่สูงที่สุด เท่ากับ 1960 กิโลกรัมต่อไร่ และเกษตรกรพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็กแต่ไม่เป็นลูกไร่บริษัทมีผลผลิตต่อไร่ต่ำที่สุด เท่ากับ 1600 กิโลกรัมต่อไร่

สำหรับทุนต้นทุนการผลิต และต้นทุนโลจิสติกส์ พบว่า เกษตรกรพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่เป็นลูกไร่บริษัทมีต้นทุนการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนต่ำที่สุด เท่ากับ 2.11 บาทต่อกิโลกรัม มีผลกำไร เท่ากับ 1.68บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต้นทุนโลจิสติกส์เท่ากับ 0.68 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่เกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็กไม่เป็นลูกไร่บริษัท มีต้นทุนการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนสูงที่สุด เท่ากับ 2.83 บาทต่อกิโลกรัม มีผลกไร เท่ากับ 1.06 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ เท่ากับ 0.65บาทต่อกิโลกรัม แสดงให้เห็นว่า เกษตรกรเป็นลูกไร่บริษัท (Contracts Farming) มีต้นทุนการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนต่ำกว่าเกษตรไม่เป็นลูกไร่บริษัท (Non-Contracts Farming) ส่งผลให้กำไรสูงกว่าเกษตรกรไม่เป็นลูกไร่บริษัท (Non-Contracts Farming) ในส่วนผู้รวบรวมนั้น พบว่า ผู้รวบรวมบริษัทมีต้นทุนโลจิสติกส์ เท่ากับ 0.20 บาทต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าต้นทุนโลจิสติกส์ผู้รวบรวมอิสระ เท่ากับ 0.42 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้เกษตรกรเป้นลูกไร่บริษัท (Contracts Farming) สามารถผลิตข้าวโพดฝักอ่อนได้ปริมาณที่สูงกว่า เกษตรกรไม่เป็นลูกไร่บริษัท (Non-Contracts Farming) เนื่องจากบริษัทจะควบคุมดูแลการผลิตให้เป็นไปตามแผนการปลูก และการจัดการแปลงปลูกได้เหมาะสม รวมทั้งสามารถควบคุมต้นทุนในการผลิตและต้นทุนโลจิสติกส์ ส่งผลให้เกษตรกรเป็นลูกไร่บริษัท (Contracts Farming) มีผลกำไร สูงกว่าเกษตรกรไม่เป็นลูกไร่บริษัท (Non-Contracts Farming)