บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารเคลือบผิวบริโภคได้ร่วมกับกรดซาลิไซลิกต่อการสุกของมะละกอพันธุ์เรดมาราดอล์

เทอดธวัช โสภณดิลก

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 162 หน้า. 2552.

2552

บทคัดย่อ

ผลของสารเคลือบผิวบริโภคได้ร่วมกับกรดซาลิไซลิกต่อการสุกของมะละกอพันธุ์เรดมาราดอล์

มะละกอพันธุ์เรดมาราดอล์เป็นมะละกอที่ใช้ในการบริโภคสดที่ได้รับความสนใจ และเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ปัญหาสำคัญหลังการเก็บเกี่ยวของมะละกอพันธุ์เรดมาราดอล์คือ การสุก และเกิดการอ่อนนิ่มอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของโรคในระหว่างการเก็บรักษา ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงได้มีความพยายามที่จะลดปัญหาหลังการเก็บเกี่ยวของมะละกอพันธุ์เรดมาราดอล์โดยการใช้สารเคลือบผิวที่สามารถรับประทานได้เนื่องจากมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค การทดลองใช้สารเคลือบผิวบริโภคได้กับมะละกอพันธุ์เรดมาราดอล์โดยใช้สารเคลือบผิวจากบุกที่ระดับความเข้มข้น 0 (ชุดควบคุม) 0.1 0.2 และ 0.3 เปอร์เซ็นต์ (น้ำหนัก/ปริมาตร) และสารเคลือบผิวจากว่านหางจระเข้ที่ระดับความเข้มข้น 0 (ชุดควบคุม) 0.25 0.5 และ 1.0 เปอร์เซ็นต์ (น้ำหนัก/ปริมาตร) แล้วเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส พบว่าสารเคลือบผิวทั้งสองชนิดสามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสีของเนื้อ เนื่องจากก่อให้เกิดสภาพบรรยากาศดัดแปลงขึ้นภายในผลโดยมีการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์สูง และมีออกซิเจนต่ำกว่าชุดควบคุม โดยการเคลือบด้วยบุกมีประสิทธิภาพในการชะลอการเปลี่ยนแปลงสีเนื้อได้ดีกว่าการใช้ว่านหางจระเข้ อย่างไรก็ตามความเข้มข้นของบุกที่ระดับต่างๆ ให้ผลที่ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ดังนั้นจึงเลือกใช้สารละลายบุกที่ความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับกรดซาลิไซลิกความเข้มข้น  4 8 และ 12 มิลลิโมลาร์ เปรียบเทียบกับผลที่ไม่ได้ทำการเคลือบ (ชุดควบคุม) ในการเคลือบผิวมะละกอพันธุ์เรดมาราดอล์แล้วเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส และศึกษาอายุการวางจำหน่ายเมื่อย้ายจากห้องเย็นไปยังอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสในทุกๆ 5 วัน โดยจุดประสงค์ของการใช้กรดซาลิไซลิกเพื่อลดอัตราการผลิตเอทิลีน ผลการทดลองพบว่าการใช้กรดซาลิไซลิกที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ ร่วมกับสารเคลือบจากบุก ไม่มีผลในการชะลอการสุกในระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม แต่เมื่อย้ายผลมะละกอจากอุณหภูมิต่ำไปที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พบว่ามะละกอที่เคลือบผิวด้วยบุกผสมกรดซาลิไซลิกที่ระดับความเข้มข้น 12 มิลลิโมลาร์ ส่งผลให้เกิดการเร่งการสุก อาจเนื่องมาจากกรดซาลิไซลิกที่ความเข้มข้นสูงมีผลในการเร่งการเสื่อมสภาพของผลมะละกอ ส่วนมะละกอที่เคลือบผิวด้วยบุกร่วมกับกรดซาลิไซลิกความเข้มข้น 4 มิลลิโมลาร์ มีอายุการวางจำหน่ายนานกว่าทรีตเมนท์อื่นๆ เนื่องมาจากความเข้มข้นดังกล่าวมีความเหมาะสมในการชะลอการสุกของมะละกอพันธุ์เรดมาราดอล์