บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ความดันสูงต่อการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีบางประการและคุณภาพของผลลำไย

กัลยา วิธี

วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 97 หน้า. 2553.

2553

บทคัดย่อ

ผลของการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ความดันสูงต่อการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีบางประการและคุณภาพของผลลำไย

การศึกษาผลของคาร์บอนไดออกไซด์ความดันสูง (high carbon dioxide pressure; HCP) ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของลำไย ด้วยความดันของคาร์บอนไดออกไซด์ 1.0, 1.5และ  2.0กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เป็นเวลา 1, 2และ 3ที่ อุณหภูมิห้องก่อนนำไปเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 10องศาเซลเซียส พบว่า HCP สามารถยืดอายุการเก็บรักษาของผลลำไย โดยสามารถชะลอการเกิดสีน้ำตาลของเปลือก ชะลอการสูญเสียน้ำหนัก ลดอัตราการหายใจและการสร้างเอทธิลีน ลดการเน่าเสีย และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและมีอายุการเก็บรักษาได้นาน 18วันในขณะที่ผลลำไยที่ไม่ได้รับ HCP มีอายุการเก็บรักษาได้เพียง 12วัน ซึ่งผลลำไยในกรรมวิธี HCP 2.0กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เป็นเวลา 1และ 2ชั่วโมง มีคุณภาพผลดีกว่าผลลำไยในกรรมวิธีอื่น ๆ

ศึกษาผลของอุณหภูมิ 2ระดับคือ 5และ 10องศาเซลเซียส ที่ใช้ในการเก็บรักษาร่วมกับการที่ผลลำไยได้รับ HCP 2.0กิโลกรัมต่อตารางเซ็นติเมตร นาน 1และ 2ชั่วโมง เปรียบเทียบกับผลที่ไม่ได้รับ HCP พบว่า HCP ไม่มีผลต่อ pH และปริมาณกรดที่สามารถไตเตรทของเนื้อและเปลือก แต่มีผลทำให้น้ำตาลรีดิวซ์ต่ำกว่าชุดไม่ได้รับ HCP และสามารถลดการหายใจด้วยลดกิจกรรมของเอ็นไซม์ฟอสโฟฟรุคโตไคเนส (posphofructokinase) ไพโรฟอสโฟทรานสเฟอเรส (pyrophosphate: fru-6-p phosphotransferase) และไพรูเวทไคเนส(pyruvate kinase) ต่ำกว่า อีกทั้งลดการสร้างเอทธิลีนและลดกิจกรรมของเอ็นไซม์เอซีซีซินเทส (ACC synthase) และเอซีซีออกซิเดส (ACC oxidase) นอกจากนี้คาร์บอนไดออกไซด์ความดันสูงสามารถลดกิจกรรมของเอ็นไซม์โพลิกาแลคตูโรเนส(polygalacturonase) และ โพลิฟีนอลออกซิเดส (polyphenoloxidase) โดยกรรมวิธีที่ให้ HCP นาน 1และ2ชั่วโมงแล้วนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5องศาเซลเซียส มีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยผลลำไยมีอายุการเก็บรักษาได้นาน 30และ 27วัน ขณะที่ผลลำไยที่ไม่ได้รับ HCP มีอายุการเก็บรักษาได้เพียง 21วัน ที่ 5องศาเซลเซียส  ส่วนที่ 10องศาเซลเซียส ผลลำไยมีอายุการเก็บรักษาได้นาน 18และ 15วัน ขณะที่ผลลำไยที่ไม่ได้รับ HCP มีอายุการเก็บรักษาได้เพียง 12วัน

การศึกษาผลของ HCP ต่อการเน่าเสียของผลลำไยที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis  sp. โดยนำผลลำไยที่ปลูกเชื้อ Pestalotiopsis  sp. โดยใช้เส้นใยแล้ว 12 ชั่วโมง จากนั้นจึงให้ HCP 2.0 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เป็นเวลา 1 และ 2 ชั่วโมงเปรียบเทียบกับผลลำไยที่ไม่ได้รับ HCP ก่อนนำไปเก็บรักษาไว้อุณภูมิห้อง พบว่า การเกิดโรคของผลลำไยที่ได้รับและไม่ได้รับ HCP ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลลำไยเกิดอาการเน่าที่ขั้วผลอย่างรวดเร็วภายใน 72 ชั่วโมง ส่วนการเจริญของเส้นใยและสปอร์ของเชื้อรา Pestalotiopsis  sp. ในอาหารเลี้ยงเชื้อ พบ HCP ทำให้การเจริญของเส้นใยลดลงแต่ HCP กลับชักนำให้มีการสร้างสปอร์เร็วขึ้น