การแก้การพักตัวของเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นด้วยวิธีต่างๆ และผลต่อคุณภาพของเมล็ด
เกสินี ใจหนักแน่น
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 60 หน้า. 2553.
2553
บทคัดย่อ
ศึกษาวิธีการแก้การพักตัวของเมล็ดข้าวญี่ปุ่นพันธุ์ ก.วก. 1 ด้วยวิธีต่างๆ หลังจากข้าวเปลือกถูกเก็บเกี่ยวแล้ว 0, 7, 14, 21, 28 และ 35 วัน นำมาผ่านการทำลายการพักตัวโดยการแช่เอทานอลความเข้มข้น 3, 4 และ 5% นาน 24 ชั่วโมง การแช่ GA3 ความเข้มข้น 0.02, 0.05 และ 0.1% นาน 24 ชั่วโมง และการแช่น้ำที่อุณหภูมิ 28°ซ นาน 24 ชั่วโมงโดยมีและไม่มีการพ่นออกซิเจนลงในน้ำอย่างต่อเนื่อง ผลการทดลองแสดงว่าข้าวพันธุ์ ก.วก.1 มีการพักตัวชนิดไม่ลึก การพักตัวจะหมดไปหลังจากข้าวถูกเกี่ยวมาแล้ว 7 วัน และพบว่าที่อายุ 0 วันหลังเก็บเกี่ยว เมื่อนำเมล็ดมาแก้การพักตัวโดยการแช่ใน GA3 ความเข้มข้น 0.1% จะให้ค่าเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงสุด และให้ค่าความแข็งแรงของเมล็ด และอัตราการเจริญเติบโตของต้นกล้าสูง กรรมวิธีที่ให้ผลรองลงมา คือ การแช่ GA3 ความเข้มข้น 0.02 และ 0.05% ซึ่งให้ผลใกล้เคียงกัน ส่วนกรรมวิธีแช่เอทานอลและการแช่น้ำให้ผลไม่น่าพอใจ เมล็ดข้าวญี่ปุ่นที่อายุ 7 วันหลังเก็บเกี่ยวเมื่อทำลายการพักตัว พบว่า ทุกกรรมวิธีให้ค่าความงอกเกิน 80% มีค่าความแข็งแรงของเมล็ด อัตราการเจริญเติบโตของต้นกล้าสูงใกล้เคียงกับชุดควบคุม