การควบคุมมอดยาสูบโดยใช้โอโซน
ภูษณิศา คำตะนิตย์
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 80 หน้า. 2553.
2553
บทคัดย่อ
มอดยาสูบ Lasioderma serricorne (Fabricius) (Coleoptera: Anobiidae) เป็นแมลงศัตรูสำคัญที่ทำลายใบยาสูบแห้งระหว่างการเก็บรักษาการใช้โอโซนเพื่อควบคุมมอดยาสูบได้ศึกษาในห้องปฏิบัติการ การทดลองที่ 1 ศึกษาเปอร์เซ็นต์การตายของมอดยาสูบเมื่อได้รับโอโซน โดยนำมอดยาสูบระยะไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ผ่านโอโซน ที่ความเข้มข้น 60 ppm ระยะเวลา 2 ชั่วโมง พบว่า ระยะดักแด้มีเปอร์เซ็นต์การตายน้อยที่สุดคือ 20.73±2.98 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาได้แก่ระยะหนอน ตัวเต็มวัย และไข่ คือ 36.54±1.46, 58.80±2.34 และ 84.94±2.33 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ การทดลองที่ 2 นำดักแด้มาผ่านโอโซนที่ 60 ppm ในช่วงระยะเวลา 4, 8, 12, 24 และ 48 ชั่วโมง พบว่ามอดยาสูบตาย 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ระยะเวลา 12 ชั่วโมงเป็นต้นไป ในการทดลองที่ 3 ประสิทธิภาพของโอโซนในการกำจัดมอดยาสูบในใบยาแห้งชนิดต่างๆ ได้แก่ ใบยาสูบแห้ง ยาเส้น และใบยาสูบอัดภายในกระสอบ โดยรมด้วยโอโซนที่ความเข้มข้น 60 ppm โดยตรง มีค่า Median Lethal Time (LT50) คือ 4.65 ชั่วโมง ซึ่งมีค่าต่ำที่สุด และแตกต่างจาก การรมด้วยโอโซนร่วมกับใบยาสูบแห้ง ยาเส้น และใบยาสูบอัดภายในกระสอบ ซึ่งพบว่ามีค่า LT50 ไม่แตกต่างกัน (72.97, 78.87 และ 78.08 ชั่วโมง) การศึกษาคุณสมบัติทางเคมี และกายภาพบางประการใช้โอโซนรมในใบยาสูบแห้งเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ปริมาณนิโคตินมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ซิ่งมีการเปลี่ยนแปลงแต่ยังไม่ชัดเจน ปริมาณคลอไรด์ มีความแตกต่างจากชุดควบคุม และพบว่าใบยาสูบแห้งได้รับโอโซนเป็นเวลา 24 ชั่วโมง มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากสีส้มเป็นสีส้มเข้มเมื่อวัดด้วยเครื่องวัดสี แต่จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญคุณภาพใบยาสูบยังคงจัดสีของใบยาสูบปกติและใบยาสูบที่ผ่านโอโซนอยู่ในกลุ่มที่มีสีไม่แตกต่างกัน