บทคัดย่องานวิจัย

การใช้โอโซนที่มีปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของไททาเนียมไดออกไซด์เพื่อลดสารตกค้างคลอไพริฟอสและการปนเปื้อนเชื้อ Colletotrichum capsici

ภัทราภรณ์ ชุติดำรง

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 129 หน้า. 2553.

2553

บทคัดย่อ

การใช้โอโซนที่มีปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของไททาเนียมไดออกไซด์เพื่อลดสารตกค้างคลอไพริฟอสและการปนเปื้อนเชื้อ Colletotrichum capsici

การศึกษาผลของการใช้โอโซนร่วมกับปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของไททาเนียมไดออกไซด์ต่อการลดสารคลอไพริฟอสตกค้าง และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Colletotrichum capsici ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของพริกขี้หนู โดยใช้สารละลายคลอไพริฟอสมาตรฐานเข้มข้น 1 มิลลิกรัมต่อลิตร และเตรียมสปอร์แขวนลอยของเชื้อ C. capsici ที่มีปริมาณ 2.9x106 สปอร์ต่อมิลลิลิตร นำมาทดสอบกับชุดปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่ง โดยผสมผงไททาเนียมไดออกไซด์ ปริมาณ 10 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับการใช้โอโซนความเข้มข้น 200 ppm หลังจากนั้นสุ่มตัวอย่างทุกๆ 10 นาที เป็นเวลา 1 ชั่วโอง เพื่อทำการวิเคราะห์ปริมาณสารตกค้างโดยใช้เครื่องแก๊สโครมาโตกราฟ และวิเคราะห์การเจริญเติบโตของเชื้อรา (เปอร์เซ็นต์การยับยั้งการเจริญของเส้นใยและการงอกของสปอร์) พบว่าการให้โอโซนร่วมกับปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของไททาเนียมไดออกไซด์ เป็นเวลาที่ 50 และ 60 นาที สามารถสลายสารละลายคลอไพริฟอสได้ดีที่สุดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ สำหรับการทดลองที่ 2 นำพริกขี้หนูสดมาแช่ในสารละลายคลอไพริฟอส เป็นเวลา 30 นาที และปลูกเชื้อด้วย C. capsici จากนั้นนำผลพริกขี้หนูไปล้างกับน้ำที่มีโอโซนร่วมกับปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของไททาเนียมไดออกไซด์ เป็นเวลา 25, 50, 75 และ 100 นาที โดยเปรียบเทียบกับการให้ปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของไททาเนียมไดออกไซด์ และโอโซนอย่างเดียว พบว่าภายในเวลา 25 นาที ในทุกชุดการทดลองมีผลต่อการลดสารคลอไพริฟอสตกค้างได้และยังมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ดี และที่เวลา 100 นาที พบว่าโอโซนจะมีผลเสริมกับปฏิกิริยาเคมีที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งของไททาเนียมไดออกไซด์ ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการสลายสารคลอไพริฟอสตกค้าง และสามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้เมื่อนำผลพริกไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 และ 13 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดปริมาณการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดได้ โดไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพพริกสด เช่น การเปลี่ยนแปลงของสีเปลือกด้านนอก และการยอมรับโดยรวม แต่มีผลทำให้เปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักของพริกสดมากขึ้นเมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส