ความเสียหายจากการกดทับกันของผลส้มสายน้ำผึ้งโดยการจำลองการสั่นสะเทือนระหว่างการขนส่ง
นฤมล อุปละ
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 138 หน้า. 2553.
2553
บทคัดย่อ
การศึกษาความเสียหายจากการกดทับกันและการสั่นสะเทือนระหว่างการขนส่งของผลส้มสายน้ำผึ้ง เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการลดความเสียหายของผลส้มระหว่างการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว งานวิจัยนี้ได้ทดสอบความสามารถในการรับแรงกดทับ การกดทับผลส้มทั้งในระยะสั้นๆและระยะยาวด้วยน้ำหนักต่างๆ ความเสียหายระหว่างการขนส่งโดยใช้เครื่องจำลองการสั่นสะเทือน ผลการทดลอง พบว่า ผลส้มสามารถรับแรงกดทับได้ไม่แตกต่างกันทั้งตำแหน่งข้างผลและขั้วผล แรงกดสูงสุดที่ทำให้ผลส้มแตกมีค่าเฉลี่ย 116.7-120.7 นิวตัน ผลการทดสอบกดทับผลส้มที่ระยะยุบตัวต่างๆ พบว่า ผลส้มเริ่มช้ำเมื่อกดทับจนยุบตัว 10เปอร์เซ็นต์ของความสูงของผล หรือเมื่อถูกกดทับด้วยแรงเฉลี่ย 31.6 นิวตัน โดยมีเปอร์เซ็นต์การรั่วไหลของสารอีเล็กโตรไลต์ อัตราการหายใจ เปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนัก และเปอร์เซ็นต์การเน่าเสียของผลส้มเพิ่มขึ้นตามระยะยุบตัวที่เพิ่มขึ้นและพบความสัมพันธ์ของระยะยุบตัวกับการรั่วไหลของสารอีเล็กโตรไลต์เป็นเส้นตรง โดยมีค่า R2 เท่ากับ 0.91 ส่วนผลของการกดทับผลส้มอย่างต่อเนื่องยาวนานด้วยน้ำหนักต่างกัน พบว่า อัตรา การยุบตัวของผลส้มเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักกดและทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น ผลส้มเริ่มช้ำ เมื่อถูกกดทับด้วยน้ำหนัก 1,400 กรัม และมีอัตราการยุบตัว 0.32 มิลลิเมตร