บทคัดย่องานวิจัย

ผลของคลื่นความถี่วิทยุต่อเชื้อรา Aspergillus flavus และคุณภาพของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

กุลธิดา ไชยสถิตวานิช

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 71 หน้า. 2553.

2553

บทคัดย่อ

ผลของคลื่นความถี่วิทยุต่อเชื้อรา Aspergillus flavus และคุณภาพของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการให้ความร้อนด้วยคลื่นความถี่วิทยุเพื่อกำจัดเชื้อรา Aspergillus flavus ผลต่อคุณภาพทางกายภาพและเคมีในเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์สุวรรณ 1 โดยนำวัตถุทดลองมาปลูกเชื้อรา A. flavus ด้วยวิธีการใช้สารแขวนลอยสปอร์ที่ความเข้มข้น 6.76×106 สปอร์/มล. และปรับระดับความชื้นให้อยู่ที่ 15% ทิ้งไว้ 7 วันนำเมล็ดข้าวโพดมาให้ความร้อนด้วยคลื่น ความถี่วิทยุที่ความถี่ 27.12 MHz อุณหภูมิ 80, 85 และ 90 ºC ระยะเวลา 1 และ 3 นาที นำมาตรวจเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อรา A. flavus ด้วยวิธีเพาะบนอาหารเลี้ยงเชื้อ (PDA) และวิธีเพาะบนกระดาษชื้น ตรวจสอบคุณภาพทางกายภาพ คือความชื้นของเมล็ด เปอร์เซ็นต์การแตกร้าวและคุณภาพทางเคมี วัดเปอร์เซ็นต์อะมิโลส ปริมาณโปรตีน ปริมาณอะฟลาท็อกซิน คุณภาพแป้ง โดยดูขนาดและการกระจายตัวของเม็ดแป้ง ความคงตัวของแป้งสุกวัดจากอัตราการไหลของแป้ง ความหนืดของแป้ง ผลการทดลองพบว่ากรรมวิธีที่ใช้คลื่นความถี่วิทยุที่อุณหภูมิ 90 ºC เวลา 3 นาทีสามารถกำจัดเชื้อรา A. flavus ได้อย่างสมบูรณ์เมื่อตรวจด้วยวิธีเพาะบนกระดาษชื้น แต่พบว่ามีผลต่อคุณภาพข้าวโพดทั้งทางกายภาพและทางเคมีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยที่เปอร์เซ็นต์ความชื้นลดลงจากชุดควบคุม 0.9% การแตกร้าวของเมล็ดเพิ่มขึ้นจากเดิม 25.1 เป็น 38.9% เปอร์เซ็นต์อะมิโลส เพิ่มขึ้นเป็น 26.2% เมื่อเทียบกับชุดควบคุม ความคงตัวของแป้งสุกโดยจากระยะทางการไหลของแป้งพบว่ามีระยะทางการไหลเพิ่มขึ้นเป็น 54.2 มม. และความหนืดของแป้งดูจากค่าความหนืดเมื่อแป้งคืนตัวมีค่าลดลงเหลือ 56.38 RVU อย่างไรก็ตามพบว่าการให้ความร้อนด้วยคลื่นความถี่วิทยุที่อุณหภูมิ 80 ºC ระยะเวลา 1 นาทีมีผลทำให้เปอร์เซ็นต์การติดเชื้อลดลงเหลือ 1.5% และไม่มีผลต่อคุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเปอร์เซ็นต์ความชื้น การแตกร้าว ปริมาณอะมิโลส ขนาดและการกระจายตัวของเม็ดแป้งไม่แตกต่างจากชุดควบคุม ส่วนปริมาณโปรตีนนั้นไม่พบความแตกต่างกันในทุกกรรมวิธีและการตรวจปริมาณอะฟลา   ท๊อกซินพบว่า ไม่พบอะฟลาท็อกซินในทุกกรรมวิธี แต่อย่างไรก็ตามกรรมวิธีที่ใช้อุณหภูมิ 80 ºC ระยะเวลา 1 นาที ค่าคงตัวของแป้งสุกและความหนืดของแป้งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับชุดควบคุม โดยระยะทางการไหลของแป้งเพิ่มขึ้นจากชุดควบคุม 10.5 มม. และค่าความหนืดของแป้ง เมื่อแป้งคืนตัวจากเดิม 71.7 เป็น 50.8 RVU ดังนั้นการให้ความร้อนด้วยคลื่นความถี่วิทยุที่อุณหภูมิ 80 ºC ระยะเวลา 1 นาที สามารถลดการปนเปื้อนของเชื้อรา A. flavus ได้ 98.5% โดยยังคงคุณภาพของเมล็ดข้าวโพดได้อย่างมีประสิทธิภาพ