บทคัดย่องานวิจัย

อายุการเก็บรักษาของใบมะกรูดที่อบแห้งโดยตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ตู้อบลมร้อนแบบถาดและตู้อบไมโครเวฟสุญญากาศ

อิศรพงษ์ พงษ์ศิริกุล

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2553.

2553

บทคัดย่อ

อายุการเก็บรักษาของใบมะกรูดที่อบแห้งโดยตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ตู้อบลมร้อนแบบถาดและตู้อบไมโครเวฟสุญญากาศ

ในการศึกษาผลของกรรมวิธีการอบแห้งต่ออัตราการอบแห้ง ระยะเวลาอบแห้ง ปริมาณ citronellal ค่าสี ความชื้น และค่าวอเตอร์แอคติวิตีของใบมะกรูดอบแห้ง  โดยทดลองอบแห้งใบมะกรูดด้วยตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาอากาศร้อนเข้าสู่ห้องอบ ตู้อบลมร้อนแบบถาดและตู้อบไมโครเวฟสุญญากาศ ใบมะกรูดที่ใช้อบมีความชื้นเริ่มต้นเฉลี่ยร้อยละ 177.13มาตรฐานแห้ง  พบว่าในกระบวนการอบแห้งที่อุณหภูมิ 60องศาเซลเซียสโดยใช้ตู้อบลมร้อนแบบถาดจะปรากฏอัตราการทำแห้งช่วงลดลงเท่านั้น จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนความชื้นในระยะเวลาการอบต่างๆ พบว่าอัตราส่วนความชื้นจะลดลงแบบเอกซ์โปเนนเชียลเมื่อระยะเวลาอบแห้งเพิ่มขึ้น ทำการประยุกต์ใช้แบบจำลองของ Lewis, Henderson and Pabis และ Page เพื่อทำนายจลนศาสตร์ของการอบแห้งใบมะกรูด และพิจารณาแบบจำลองที่เหมาะสมโดยตรวจสอบจากค่า Root Means Squared Error (RMSE), coefficient of determination (R2) และ reduced chi-square (c2) พบว่าแบบจำลองของ Page สามารถทำนายอัตราการลดความชื้นของใบมะกรูดที่อบแห้งด้วยเครื่องอบแห้งลมร้อนแบบถาดที่อุณหภูมิ 60องศาเซลเซียสได้ดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกระบวนการอบแห้งใบมะกรูดด้วยเครื่องอบแห้งทั้งสามชนิด โดยใช้การประเมินปริมาณ citronellal ค่าสี ความชื้น และค่าวอเตอร์แอคติวิตีเป็นดัชนีคุณภาพ  พบว่าคุณภาพหลังการอบแห้งด้วยตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ตู้อบลมร้อนแบบถาดและตู้อบไมโครเวฟสุญญากาศไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p>0.05) ผลิตภัณฑ์ที่ได้หลังการอบแห้งทั้ง 3วิธี มีความชื้นต่ำกว่าร้อยละ 7 

ในการศึกษาอายุการเก็บรักษาใบมะกรูดอบแห้งป่น พบว่า ผู้บริโภคให้การยอมรับหากตัวอย่างมีปริมาณ citronellal สูงกว่าร้อยละ 0.228 ดังนั้น จึงใช้ค่านี้ในการประเมินการสิ้นสุดอายุการเก็บรักษา  ส่วนค่าพลังงานก่อกัมมันต์ (Ea) ของการเปลี่ยนแปลงปริมาณ citronellal ในใบมะกรูดอบแห้งป่นที่ผ่านการอบแห้งแบบพลังงานแสงอาทิตย์   ผ่านการอบแห้งโดยใช้ตู้อบลมร้อนแบบถาด และผ่านการอบแห้งด้วยตู้อบไมโครเวฟสุญญากาศ มีค่า Ea เท่ากับ 46.78, 38.18 และ 44.45 กิโลจูล/โมล เคลวิน ตามลำดับ เมื่อบรรจุถุงอะลูมิเนียมฟอยล์   ส่วนค่า Ea ของการเปลี่ยนแปลงปริมาณ citronellal ในใบมะกรูดอบแห้งป่นที่ผ่านการอบแห้งทั้ง 3 วิธีดังกล่าวข้างต้นเท่ากับ 48.77, 41.41 และ 42.50 กิโลจูล/โมล เคลวิน   ตามลำดับ เมื่อบรรจุถุงโพลีโพรพิลีน  ในการศึกษานี้ ได้สมการจลนศาสตร์จากอุณหภูมิและค่าอัตราการเปลี่ยนแปลง citronellal เพื่อใช้ทำนายอายุการเก็บรักษาของใบมะกรูดอบแห้งป่น โดยพิจารณาจากปริมาณ citronellal ที่เหลืออยู่