บทคัดย่องานวิจัย

การตายของเซลล์ในช่วงการชราภาพของดอกกล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) ที่ถูกชักนำโดยเอทิลีน

กาญจนา กิระศักดิ์

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 155 หน้า. 2553.

2553

บทคัดย่อ

การตายของเซลล์ในช่วงการชราภาพของดอกกล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) ที่ถูกชักนำโดยเอทิลีน

ดอกกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์ลักกี้ดวน เรดบอมโจ มีสทีน ซากุระ ทับทิม และขาวสนาน เมื่อได้รับเอทิลีนความเข้มข้น 0.1-1.0 µL/Lเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 25องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 80%  ทำให้เกิดการชราภาพของดอกกล้วยไม้ โดยดอกกล้วยไม้หวายพันธุ์ลักกี้ดวนตอบสนองมากที่สุด ขณะที่พันธุ์เรดบอมโจตอบสนองน้อยที่สุด และสาร 1-MCP (1-methylcyclopropene) ที่ให้กับดอกกล้วยไม้ก่อนได้รับเอทิลีน สามารถยับยั้งการชราภาพของกล้วยไม้ที่ได้รับเอทีลีน ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของชั้นเซลล์ในกลีบดอกบนกล้วยไม้พันธุ์   ลักกี้ดวนภายใต้กล้อง LM พบว่าชั้นเซลล์มีโซฟิลเกิดการยุบตัวบริเวณรอบท่อลำเลียง เห็นเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ชัดเจนหลังจากได้รับเอทิลีน แต่ชั้นเซลล์อิพิเดอมิสเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย สำหรับดอกกล้วยไม้พันธุ์เรดบอมโจ พบชั้นเซลล์มีโซฟิลเปลี่ยนแปลงเห็นช่องว่างขนาดเล็ก และการเปลี่ยนแปลงของกลีบดอกในพันธุ์ลักกี้ดวน  สามารถยืนยันผลการทดลองได้เมื่อดูภายใต้กล้อง SEM โดยเห็นการยุบตัวของชั้นมีโซฟิลเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในดอกกล้วยไม้ที่ได้รับเอทิลีน และเมื่อดูผลการเปลี่ยนแปลงของออร์แกเนลล์ในเซลล์ ภายใต้กล้อง TEM พบว่า ผนังเซลล์บางลง และเยื่อหุ้มผนังเซลล์แยกตัวจากผนังเซลล์อย่างชัดเจน แวคคิวโอลขยายขนาดใหญ่ขึ้น ไม่พบไรโบมโซมและเอนโดพลาสมิกเรติคิวลัม เยื่อหุ้มนิวเคลียสแตกและโครมาตินภายในนิวเคลียสแตกหักและรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เซลล์มีการสร้างมัลติเวซิคิวลัมบอดี้และไมอีลินบอดี้มากขึ้น ไมโตคอนเดรียเกิดการเสื่อมสภาพ บริเวณพื้นที่ระหว่าง cristae ขยายตัวเพิ่มขึ้น เวสซิเคิลที่มีเยื่อหุ้มชั้นเดียว และมีกรานูลจำนวนมากเกิดอิเลคตรอนหนาแน่น ในขณะที่พลาสติดกลืนกิน  ส่วนของไซโพลาสซึมและพลาสติดพัฒนาเป็นแวคคิวโอล เกิดกิจกรรมของ autophagosome หรือ autolysosome  ขณะที่เอนไซม์ดีเอนเอสมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นหลังดอกกล้วยไม้ได้รับเอทิลีนและเพิ่มอีกครั้งในวันที่ดอกกล้วยไม้เสื่อมสภาพที่สุด การแตกหักของดีเอนเอ (DNA fragmentation) ปรากฏเพียงเล็กน้อยหลังดอกกล้วยไม้ได้รับเอทิลีน และเกิดน้อยที่สุดในวันที่ดอกกล้วยไม้เสื่อมสภาพมากที่สุด