คุณสมบัติทางกายภาพ เชิงกล สรีระวิทยาและแสงที่สัมพันธ์กับการคัดคุณภาพของผลแก้วมังกร
ใจทิพย์ วานิชชัง
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 175 หน้า. 2553.
2553
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพ คุณสมบัติเชิงกล คุณสมบัติทางสรีระวิทยา และคุณสมบัติการสะท้อนแสงที่สัมพันธ์กับการคัดคุณภาพของผลแก้วมังกร ทำการศึกษากับแก้วมังกร 2พันธุ์ คือพันธุ์เนื้อขาว (Hylocereus undatus) และพันธุ์เนื้อแดง (Hylocereus polyrhizus) จากสวนในจังหวัดชลบุรี โดยเก็บเกี่ยววันที่ 23-40หลังดอกบาน
จากการศึกษาพบว่า คุณสมบัติทางกายภาพ คุณสมบัติเชิงกล คุณสมบัติทางสรีระวิทยา และ คุณสมบัติการสะท้อนแสงของผลแก้วมังกรเปลี่ยนแปลงตามวันหลังดอกบาน ช่วงที่เจริญเติบโตเต็มที่อายุ 28-30วันหลังดอกบานจะมีคุณภาพดีที่สุด ค่าอัตราส่วนการสะท้อนแสง Log (R680/R550) มีความสัมพันธ์กับความสุกแก่มากที่สุด ดังนั้น เมื่อใช้คุณสมบัติเหล่านี้ ในการแบ่งกลุ่มแก้วมังกรตามความสุกแก่และตามพันธุ์ ได้ความถูกต้อง 94.9และ 91.4%ในพันธุ์เนื้อแดงและพันธุ์เนื้อขาว ตามลำดับโดยใช้เทคนิค Discriminant analysis และดัชนีการสุกแก่ (Multivariate Maturity Index: MMI) ของผลแก้วมังกรถูกสร้างจากวันหลังดอกบาน คุณสมบัติที่การตรวจวัดต้องทำลายตัวอย่าง (Destructive)โดยใช้ Principal Component Analysis (PCA) สามารถทำนายค่า MMI ของแก้วมังกรพันธุ์เนื้อแดง และรวมทั้ง 2พันธุ์ได้โดยใช้ Partial Least Square Regression (PLSR) จากคุณสมบัติของแก้วมังกรที่การตรวจวัดไม่ต้องทำลายตัวอย่าง (Nondestructive) 3คุณสมบัติ คือ ค่าสี a, b และ Log (R680/R550) ส่วนพันธุ์เนื้อขาวต้องใช้คุณสมบัติการสะท้อนแสงช่วง 400-700นาโนเมตร โดยให้ผลการทำนายที่ไม่แตกต่างจากการทำนายด้วยคุณสมบัติทางกายภาพ และค่าการสะท้อนแสงช่วง 400-700นาโนเมตร โดยคุณสมบัติแบบไม่ทำลายนี้สามารถนำมาประยุกต์สร้างอุปกรณ์คัดคุณภาพของผลแก้วมังกรได้