น้ำตาล แป้ง และคุณภาพของข้าวโพดหวานสายพันธุ์แท้ต่างๆ
จุฑามาศ กูลนฤมิตรกุล
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 110 หน้า. 2553.
2553
บทคัดย่อ
ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชนิดน้ำตาล ปริมาณน้ำตาล ตลอดจนปริมาณแป้งที่มีผลต่อคุณภาพการบริโภคข้าวโพดหวานพิเศษสายพันธุ์แท้ 89 สายพันธุ์ ที่ระยะเก็บเกี่ยว 20 วันหลังการผสมเกสร พบว่า น้ำตาลในข้าวโพดหวานส่วนใหญ่เป็นน้ำตาลซูโครสร้อยละ 80 รองลงมาได้แก่ น้ำตาลกลูโคส และฟรุกโตส ตามลำดับ เมื่อทดสอบหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (r) ระหว่างปริมาณน้ำตาลทั้งหมดและคะแนนความหวานที่ได้จากการชิม พบว่า มีค่าสหสัมพันธ์ในเชิงบวกปานกลาง (r = 0.64, P<0.001) และเมื่อนำปริมาณน้ำตาลซูโครส กลูโคส และฟรุกโตส มาทดสอบ พบว่า น้ำตาลซูโครสมีค่าสหสัมพันธ์เชิงบวกกับคะแนนความหวานมากที่สุด (r = 0.65, P<0.001) ด้านปริมาณแป้งและความหวาน พบว่า คะแนนความหวานที่ได้จากการชิมมีค่าความสัมพันธ์เชิงลบกับปริมาณแป้งภายในเมล็ด (r = -0.46, P <0.001) และปริมาณแป้งภายในเมล็ดมีความสัมพันธ์เชิงลบกับปริมาณน้ำตาลทั้งหมดในเมล็ด (r = -0.56, P <0.001) น้ำตาลซูโครส (r = -0.52, P <0.001) กลูโคส (r = -0.23, P <0.004) และฟรุกโตส (r = -0.23, P <0.03) นอกจากนั้นพบว่า คะแนนความหวานมีความสัมพันธ์เชิงลบสูงกับคะแนนความหนาของเปลือกหุ้มเมล็ด (pericarp) ที่ได้จากวิธีการชิม (r = -0.78, P <0.001) แต่คะแนนความหนาของเปลือกหุ้มเมล็ดมีค่าสหสัมพันธ์เชิงบวกกับปริมาณเปลือกหุ้มเมล็ดไม่สูงนัก (r = 0.36, P <0.001) จากความแตกต่างทางพันธุกรรมของพันธุ์พ่อและพันธุ์แม่ส่งผลให้ข้าวโพดหวานพิเศษสายพันธุ์แท้ต่าง ๆ มีปริมาณน้ำตาลแตกต่างกัน โดยพบว่า มีข้าวโพดหวานพิเศษจำนวน 19 สายพันธุ์ มีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดสูงกว่าพันธุ์พ่อ ด้านความหนาเปลือกหุ้มเมล็ด พบว่า ข้าวโพดหวานพิเศษจำนวน 10 สายพันธุ์มีคะแนนความหนาเปลือกหุ้มเมล็ดน้อยกว่าพันธุ์พ่อ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพันธุ์ที่ดี ส่วนสายพันธุ์ที่มีลักษณะทั้ง 2 ดีกว่าพันธุ์พ่อพบทั้งหมด 5 สายพันธุ์