การผลิตแป้งบุกบริสุทธิ์โดยวิธีผสมผสาน
Zhao Jianrong
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 127 หน้า. 2553.
2553
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ศึกษาวิธีการสกัดแบบใหม่ที่มีราคาต้นทุนในการผลิตต่ำและได้ผงกลูโคแมนแนนที่มีคุณภาพสูง กระบวนการผลิตศึกษาถึงขั้นตอนต่างๆที่เกี่ยวข้องและที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตผงกลูโคแมนแนนได้จริง งานวิจัยนี้แบ่งส่วนต่างๆในการศึกษาดังนี้ การขยายพันธุ์บุก การเพาะปลูกในไร่ กระบวนการแปรรูปหัวบุกเป็นผงกลูโคแมนแนน และการควบคุมคุณภาพ โดยใช้พันธุ์บุก (Amorphophallus spp.) 2 สายพันธุ์ ผลที่ได้จากงานวิจัยมุ่งนำมาใช้ในการสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมการแปรรูปบุก
วัตถุดิบที่ใช้ในงานวิจัยนี้ได้แก่ บุกพันธุ์ Amorphophallus bulbifer (A. bulbifer) และ Amorphophallus muelleri (A. muelleri)ซึ่งมีความต้านทานโรคและอัตราการเจริญเติบโตสูง การขยายพันธุ์ทำโดยใช้วิธีผสมเทียมดอก ขยายพันธุ์โดยเมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากดอกที่ผ่านการผสมเทียมและหัวบนใบ วิธีการนี้ทำให้มีเมล็ดเกิดขึ้นจำนวนทวีคูณ และการปรับปรุงอัตราการรอดเมื่อปลูกในไร่ โดยเทคนิคหยุดช่วงพักตัวร่วมกับการใช้เทคนิคการกระตุ้นสำหรับสร้างเมล็ดพันธุ์
ในส่วนการแปรรูปในระดับอุตสาหกรรม เทคนิคใหม่ที่พัฒนาขึ้นคือการผลิตผงแป้งบุกที่บริสุทธิ์จากหัวบุก โดยการใช้กระบวนการผลิตแบบสองขั้นตอนที่รวมการผลิตแบบแห้งและแบบเปียก เพื่อที่จะได้ผงแป้งบุกปริมาณมาก คุณภาพสูง ความหนืดสูง แต่มีปริมาณสารประกอบซัลเฟอร์ตกค้างน้อย ใช้ทุนในการผลิตต่ำ ได้วิธีการผลิตผงแป้งบุกที่ง่าย ให้ปริมาณกลูโคแมนแนนสูงเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้
ผงกลูโคแมนแนนจากหัวบุกเป็นสารประกอบไฮโดรคอลลอยด์มีสมบัติในการละลายน้ำ สารละลายมีความหนืดสูง และสามารถใช้เป็นสารให้ความข้นหนืด สารที่ก่อให้เกิดเจล และสารประกอบของฟิล์ม ซึ่งนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหาร ยา เคมี สิ่งทอ น้ำมัน และก่อสร้าง
สำหรับการควบคุมคุณภาพแป้งบุกได้พัฒนาการตรวจวิเคราะห์คุณภาพของแป้งบุก ซึ่งคุณภาพขึ้นอยู่กับปริมาณกลูโคแมนแนน โดยปรับปรุงวิธีในการตรวจสอบคุณภาพ ใช้หลักการของการย่อยด้วยกรดเพื่อย่อยกลูโคแมนแนนและหาน้ำหนักของกลูโคแมนแนนไฮดราโซน และวิธี DNSผลที่ได้ทำให้กระบวนการวิเคราะห์ปริมาณกลูโคแมนแนนรวดเร็วและแม่นยำ