การวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์ และการจัดการคุณภาพของกะหล่ำปลีหลังการเก็บเกี่ยวในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ชัยภูมิ สุขสำราญ
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 147 หน้า. 2553.
2553
บทคัดย่อ
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นแหล่งผลิตกะหล่ำปลีที่สำคัญในแถบภาคกลาง จากข้อมูลปี 2547 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลีมากที่สุด แต่จากการสำรวจพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลี ปี 2553 พบว่า พื้นที่การผลิตกะหล่ำปลีลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง และสภาพพื้นที่ปลูกมีการคมนาคมขนส่งยากลำบาก ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ จึงมุ่งศึกษาประเด็นปัญหาของโซ่อุปทานในระบบการผลิตกะหล่ำปลี รวมทั้งการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต ต้นทุนโลจิสติกส์ และศึกษาการจัดการคุณภาพของกะหล่ำปลีหลังการเก็บเกี่ยวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้การผลิตกะหล่ำปลีมีต้นทุนลดลง และมีคุณภาพสูง จากการสัมภาษณ์เกษตรกรจำนวน 19 ราย พบว่า สาเหตุการลดลงของพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลีในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากสภาพพื้นที่ปลูกไม่เอื้ออำนวย มีต้นทุนการผลิตสูง และเส้นทางการคมนาคมไม่สะดวก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างจากการผลิตสับปะรดบริเวณข้างเคียง ปัญหาราคาตกต่ำ ดังนั้นเกษตรกรจึงเปลี่ยนแปลงจากการผลิตพืชผักมาเป็นพืชสวน ทั้งนี้สามารถแบ่งรูปแบบการผลิตกะหล่ำปลีของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1เกษตรกรผลิตกะหล่ำปลีโดยใช้สารเคมีบนพื้นที่สูง พบว่า มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2.72 บาทต่อกิโลกรัม และต้นทุนโลจิสติกส์เท่ากับ 1.54 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ เกษตรกรผลิตกะหล่ำปลีแบบเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ราบ พบว่า มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 1.70 บาทต่อกิโลกรัม และต้นทุนโลจิสติกส์เท่ากับ 0.96 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิต และต้นทุนโลจิสติกส์ทั้ง 2 รูปแบบพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (p<0.01) และการคำนวณต้นทุนโลจิสติกส์ในการรวบรวมกะหล่ำปลีแล้วกระจายสู่ตลาดผู้บริโภค พบว่า สามารถแบ่งการรวบรวมกะหล่ำปลีได้เป็น 2 กรณี โดยกรณีที่ 1ผู้รวบรวมไปรับผลผลิตยังแปลงเกษตรกร พบว่า มีต้นทุนโลจิสติกส์เท่ากับ 3.82 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนอีกกรณีหนึ่งผู้รวบรวมรอรับผลผลิตยังสถานที่รวบรวม ซึ่งมีต้นทุนโลจิสติกส์เท่ากับ 3.51 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ไม่พบความแตกต่างทางสถิติ นอกจากนี้การศึกษาผลการสูญเสียคุณภาพของกะหล่ำปลีหลังการเก็บเกี่ยวในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการขนส่งสู่ตลาดผู้บริโภค 4 เส้นทาง พบว่า เปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนัก อุณหภูมิภายในชั้นใบ เปอร์เซ็นต์การสูญเสียคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว และปริมาณวิตามินซีทั้งหมด มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (p<0.01) เมื่อเปรียบเทียบกับกะหล่ำปลีก่อนการขนส่ง โดยการสูญเสียคุณภาพของกะหล่ำปลีหลังการเก็บเกี่ยวในการขนส่งสู่ตลาดผู้บริโภคขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ระยะเวลา ระยะทาง อุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ในการขนส่ง