บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพของสารส่งเสริมคุณภาพต่อเสถียรภาพสีกลีบดอกบัวพันธุ์ ฉลองขวัญและมังคลอุบลในระหว่างการปักแจกันและหลังการอบแห้ง

มานะบุตร ศรียงค์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 153 หน้า. 2553.

2553

บทคัดย่อ

ประสิทธิภาพของสารส่งเสริมคุณภาพต่อเสถียรภาพสีกลีบดอกบัวพันธุ์ ฉลองขวัญและมังคลอุบลในระหว่างการปักแจกันและหลังการอบแห้ง

การศึกษาประสิทธิภาพของสารส่งเสริมคุณภาพต่อเสถียรภาพของสีกลีบดอกบัวพันธุ์ฉลองขวัญและพันธุ์มังคลอุบลในระหว่างการปักแจกันและหลังการอบแห้ง โดยการปักดอกบัวทั้งสองพันธุ์ในสารส่งเสริมคุณภาพสารละลายน้ำตาลซูโครสที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 0 (ชุดควบคุม) 2 4  และ 8 นาน 4 ชั่วโมง (การพัลซิ่ง)แล้วย้ายมาปักในน้ำกลั่นตลอดระยะเวลาการทดลอง ณ ห้องควบคุมที่ 23±2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพันธ์ร้อยละ 70-75 ให้แสงฟูลออเรสเซนส์ นาน 12 ชั่วโมง/วัน พบว่า การพัลซิ่งด้วยสารละลายน้ำตาลซูโครสที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 4 สามารถคงสีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกบัวพันธุ์ฉลองขวัญได้ แต่ไม่มีผลต่ออัตราการหายใจและการผลิตเอทีลีนของดอก โดยมีอายุการปักแจกัน 2.75 วัน ในขณะที่การพัลซิ่งด้วยสารละลายน้ำตาลซูโครสที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 8 ทำให้ดอกบัวมีอายุการปักแจกันเพียง 0.67 วัน ส่วนการพัลซิ่งด้วยน้ำตาลซูโครสที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ ไม่มีผลต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกบัวพันธุ์มังคลอุบล นอกจากนี้การพัลซิ่งดอกบัวพันธุ์ฉลองขวัญด้วยสารละลายน้ำตาลซูโครสที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 4 ร่วมกับสารละลายกรดแอสคอร์บิคที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 0.01 นาน 4 ชั่วโมง แล้วย้ายมาปักในน้ำกลั่น ณ ห้องควบคุมอุณหภูมิสามารถรักษาสีกลีบดอกและชะลอการเพิ่มขึ้นของเอทิลีนในดอกบัวเมื่อเปรียบเทียบกับการพัลซิ่งด้วยน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) และยืดอายุการปักแจกันได้นาน 3 วัน ส่วนดอกบัวพันธุ์มังคลอุบลที่พัลซิ่งด้วยสารละลายกรดแอสคอร์บิคที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 0.01 และ 0.05ทำให้กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีสีแดงเพิ่มขึ้นและชะลอการผลิตเอทีลีนของดอกได้ สำหรับการทำดอกบัวแห้ง พบว่า ดอกบัวพันธุ์ฉลองขวัญและพันธุ์มังคลอุบลที่ทำแห้งโดยการฝังในซิลิกาเจลชนิดทรายและบ่มที่อุณหภูมิห้อง (ที่อุณหภูมิ 25±2  องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพันธ์ร้อยละ 55±5)นาน 7 วัน และ 1 เดือนมีคุณภาพดีกว่าชุดการทดลองอื่นๆ   ดอกบัวพันธุ์ฉลองขวัญและพันธุ์มังคลอุบลที่ฝังในซิลิกาเจลแล้วทำแห้งโดยใช้ไมโครเวฟที่กำลังไฟฟ้า 600 และ 700 W นาน 1 นาที ตามลำดับ แล้วนำมาบ่มที่ ณ อุณหภูมิห้อง 1 วันให้ดอกไม้แห้งที่มีคุณภาพดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ไมโครเวฟที่กำลังไฟฟ้าอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การทำแห้งโดยใช้ไมโครเวฟทำให้กลีบดอกบัวทั้ง 2 พันธุ์ มีสีซีดลงและมีรอยไหม้ที่กลีบเลี้ยงด้านนอก นอกจากนี้การพัลซิ่งดอกบัวฉลองขวัญด้วยน้ำตาลซูโครส ที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 4 ร่วมกับสารละลายกรดแอสคอร์บิคที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 0.01 นาน 4 ชั่วโมง ก่อนการทำแห้งไม่มีผลต่อคุณภาพของดอกบัวหลังการอบแห้งและระหว่างการเก็บรักษาในที่มืด (ที่อุณหภูมิ 23±2  องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพันธ์ร้อยละ 55±5)ส่วนการพัลซิ่งดอกบัวพันธุ์มังคลอุบลด้วยสารละลายกรดแอสคอร์บิคที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 0.01 นาน 4 ชั่วโมง แล้วทำให้แห้งโดยใช้ไมโครเวฟที่กำลังไฟฟ้า 700 W นาน 1 นาทีทำให้ดอกบัวแห้งเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากที่สุด โดยพิจารณาจากการเพิ่มขึ้นของสีเหลืองอมส้มของกลีบเลี้ยงและกลีบดอก