อิทธิพลของ Thidiazuron และ 1-Napthalene Acetic Acid ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกหน้าวัว (Anthurium andraeanum) พันธุ์ ‘Fire’ และ ‘Midori’ หลังการเก็บเกี่ยว
วรรณภา ภู่ทรัพย์
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 129 หน้า. 2553.
2553
บทคัดย่อ
การศึกษาอิทธิพลของThidiazuron (TDZ) และ1-Naphthalene Acetic Acid(NAA) ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Fire’ และ ‘Midori’ หลังการเก็บเกี่ยว ทำการทดลองโดยแบ่งเป็น 2 การทดลอง ในการทดลองแรก เพื่อศึกษาผลของสารละลาย TDZ ที่ระดับความเข้มข้นต่าง ๆ ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกัน ของดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Fire’ และ ‘Midori’ หลังการเก็บเกี่ยว โดยทำการ pulsing ดอกหน้าวัวด้วยสารละลาย TDZ ที่ระดับความเข้มข้น 0, 5 และ 10 µM นาน 24 ชั่วโมง แล้วย้ายมาปักในน้ำกลั่น ณ ห้องควบคุมอุณหภูมิ 21±2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70–80 %ให้แสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์นาน 12 ชั่วโมง/วัน ตลอดระยะเวลาการทดลอง พบว่า ดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Fire’ มีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสด และอัตราการดูดน้ำลดลงมากกว่าดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Midori’การpulsing ด้วยสารละลาย TDZ ที่ระดับความเข้มข้น 5–10 µM กระตุ้นให้ดอกหน้าวัวทั้ง 2 พันธุ์ มีอัตราการหายใจเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับสามารถชะลอการผลิตเอทิลีน และมีการสะสมปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ในจานรองดอกและปลีดอกเพิ่มสูงขึ้นในดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Midori’ เมื่อเปรียบเทียบกับดอกหน้าวัวที่pulsingด้วยน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) นอกจากนั้น ยังพบว่า เมื่อระยะเวลาการปักแจกันนานขึ้น ดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Fire’มีค่าความแตกต่างของสีจานรองดอกเพิ่มสูงขึ้นซึ่งสัมพันธ์กับค่าสี (a*) ที่ลดลง ค่าการเปลี่ยนแปลงสีจานรองดอก (blueing of spathe) และการเสื่อมสภาพของปลีดอก(senescence of spadix) ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะที่ระดับความเข้มข้นของสารละลาย TDZ10 µMสามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสีจานรองดอก และมีการสะสมปริมาณแอนโทไซยานินเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับดอกหน้าวัวที่pulsingด้วยน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) ในขณะที่ค่าความแตกต่างของสีจานรองดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Midori’ ค่อนข้างคงที่ตลอดระยะเวลาการปักแจกัน ซึ่งสัมพันธ์กับค่าสี (a*) และปริมาณคลอโรฟิลล์ a และ b อย่างไรก็ตาม พบว่า การpulsingด้วยสารละลาย TDZ สามารถชะลอการเสื่อมสภาพของปลีดอก อัตราการรั่วไหลของประจุ และยืดอายุการปักแจกันของดอกหน้าวัวทั้ง 2 พันธุ์ได้ โดยดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Fire’ และ ‘Midori’ ที่ pulsingด้วยสารละลาย TDZ ที่ระดับความเข้มข้น 10 µMมีอายุการปักแจกันนาน เท่ากับ 12 และ 36.7 วัน ตามลำดับ ดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Fire’ และ ‘Midori’ ที่pulsing ด้วยน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) มีอายุการปักแจกัน เท่ากับ 10 และ 33.3 วัน ตามลำดับ การทดลองที่สอง เพื่อศึกษาผลของสารละลาย NAA ที่ระดับความเข้มข้นต่าง ๆ ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Fire’ และ ‘Midori’ หลังการเก็บเกี่ยว โดยทำการ pulsing ดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Fire’ และ ‘Midori’ ด้วยสารละลายNAA ที่ระดับความเข้มข้น 0, 100 และ 200 ppm นาน 24 ชั่วโมง แล้วย้ายมาปักในน้ำกลั่น ณ ห้องควบคุมอุณหภูมิ 21±2 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70–80 % ให้แสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์นาน 12 ชั่วโมงต่อวัน ตลอดระยะเวลาการทดลอง พบว่า การpulsing ด้วยสารละลาย NAA ทำให้ดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Fire’ มีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสดและการดูดน้ำลดลง และยังกระตุ้นให้ดอกหน้าวัวทั้ง 2 พันธุ์ มีอัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีนเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับดอกหน้าวัวที่pulsing ด้วยน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) โดยดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Midori’ ที่ pulsingด้วยสารละลาย NAA ที่ระดับความเข้มข้น 200 ppm มีการสะสมปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ในจานรองดอกและปลีดอกสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับชุดการทดลองอื่น ๆ อย่างไรก็ตามเมื่อระยะเวลาการปักแจกันนานขึ้น ดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Fire’มีค่าความแตกต่างของสีจานรองดอกเพิ่มสูงขึ้นซึ่งสัมพันธ์กับค่าสี (a*) ที่ลดลง และค่าการเปลี่ยนแปลงสีจานรองดอก และการเสื่อมสภาพของปลีดอกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนดอกหน้าวัวที่ pulsing ด้วยสารละลาย NAA มีการสะสมปริมาณแอนโทไซยานินเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับดอกหน้าวัวที่pulsingด้วยน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) และมีค่าความแตกต่างของสีจานรองดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Midori’ ค่อนข้างคงที่ตลอดระยะเวลาการปักแจกัน ซึ่งสัมพันธ์กับค่าสี (a*) และปริมาณคลอโรฟิลล์ a และ b โดยดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Midori’ที่pulsingด้วยสารละลาย NAA ที่ระดับความเข้มข้น 200 ppm มีปริมาณคลอโรฟิลล์ aในจานรองดอกเพิ่มขึ้น และยังสามารถชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราการรั่วไหลของประจุของดอกหน้าวัวทั้ง 2 พันธุ์ได้ แต่อายุการปักแจกันของดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Fire’ ไม่มีความแตกต่างกันในทุกชุดการทดลอง ส่วนดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Midori’ที่ pulsingด้วยสารละลาย NAA ที่ระดับความเข้มข้น 100 ppm มีอายุการปักแจกันนานที่สุด เท่ากับ 33.5 วัน โดยดอกหน้าวัวพันธุ์ ‘Midori’ที่pulsingด้วยสารละลาย NAA ที่ระดับความเข้มข้น 200 ppm มีอายุการปักแจกันสั้นที่สุด เท่ากับ 32.3วัน