การควบคุมด้วงหนังสัตว์ (Dermestes maculatus (Degeer)) ในปลาแห้งโดยใช้โอโซน
สุมาลี ศรีนวล
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 48 หน้า. 2554.
2553
บทคัดย่อ
ด้วงหนังสัตว์ (Dermestes maculatus (Degeer)) (Coleoptera: Dermestidae) เป็นแมลงศัตรูสำคัญที่เข้าทำลายผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากสัตว์ รวมทั้งปลาแห้ง ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียทั้งในด้านปริมาณ และคุณภาพ การทดลองนี้มีจุดประสงค์ที่จะศึกษาวงจรชีวิต พฤติกรรมของด้วงหนังสัตว์ และการกำจัดด้วงหนังสัตว์โดยใช้ก๊าซโอโซน การทดลองที่ 1 วงจรชีวิตของด้วงหนังสัตว์ประกอบด้วย ระยะไข่ 3.00±0.8 วัน, ระยะหนอน 8 วัย ประกอบด้วยวัย 1 ถึง 8 ใช้เวลาในการเจริญเติบโต 2.59±1.3, 3.11±1.0, 2.60±0.5, 5.00±0.7, 3.40±0.5, 3.20±0.8, 3.32±0.8 และ 4.00±0.9 วัน ตามลำดับ มีระยะก่อนเข้าดักแด้ 4.00±0.9 วัน ระยะดักแด้ 4.59±0.7 วัน ระยะตัวเต็มวัย 34.44±5.1 วัน โดยเลี้ยงในปลาสวายแห้งรมควัน ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 28 ถึง 32 องศาเซลเซียสในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคม 2552 รวมระยะเวลาในการเจริญเติบโตประมาณ 26-48 วัน และตัวเต็มวัยมีชีวิต (longevity) ประมาณ 27-45 วัน การทดลองที่ 2 ศึกษาหาระยะการเจริญเติบโตของด้วงหนังสัตว์ที่มีความทนทานต่อก๊าซโอโซนมากที่สุด โดยใช้ด้วงหนังสัตว์ทุกระยะการเจริญเติบโต มาผ่านก๊าซโอโซนที่ระดับความเข้มข้น 60 ppm นาน 2 และ 4 ชั่วโมง พบว่า ระยะตัวเต็มวัยเป็นระยะที่มีความทนทานมากที่สุด การทดลองที่ 3 การใช้ก๊าซโอโซนในระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะทำให้ด้วงหนังสัตว์ตายอย่างสมบูรณ์ โดยนำด้วงหนังสัตว์ระยะตัวเต็มวัยมาผ่านก๊าซโอโซนที่ระดับความเข้มข้น 60 ppm ในระยะเวลา 4, 8, 12, 16, 24 และ 32 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับชุดควบคุม พบว่า การรมก๊าชโอโซน 32 ชั่วโมง ทำให้ด้วงหนังสัตว์ตาย 100 เปอร์เซ็นต์ การวัดคุณภาพปลาสวายแห้งรมควันหลังผ่านก๊าซโอโซน 60 ppm ระยะเวลา 32 ชั่วโมง พบว่าสีของปลาสวายแห้งรมควันมีสีซีดลงเล็กน้อย และมีกลิ่นของก๊าซโอโซนติดไปกับปลาสวายแห้งรมควัน