การป้องกันการเสียสภาพหลังการเก็บเกี่ยวจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในเห็ดยานางิและเห็ดนางรมดอยโดยใช้แคลเซียมคลอไรด์
ศราวุฒิ ปิงเขียว
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (ชีววิทยา) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 109 หน้า. 2554.
2554
บทคัดย่อ
เห็ดยานางิและเห็ดนางรมดอยเป็นเศรษฐกิจที่มีความต้องการทางการตลาดค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น แต่มีปัญหาหนึ่งที่พบหลังการเก็บเกี่ยวคือเห็ดที่วางจำหน่ายมีอายุสั้น ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดมาจากเชื้อราที่เข้าปนเปื้อนในกระบวนการผลิตเห็ดทำให้เกิดการเน่าเสีย จากการสำรวจจุลินทรีย์ปนเปื้อนในหัวเชื้อวุ้น 1,360 ขวด หัวเชื้อข้าวฟ่าง 6,120 ขวด หัวเชื้อขี้เลื่อย 4,140 ขวด และก้อนเชื้อขี้เลื่อย 27,600 ก้อน จำนวน 30, 30, 30 และ 60 ไอโซเลท ตามลำดับ เมื่อนำมาตรวจสอบลักษณะทางสัณฐานวิทยาสามารถจัดจำแนกได้ทั้งหมด 7 สกุล ซึ่งได้แก่ Aspergillus fumigates 22 ไอโซเลท Aspergillussclerotiorum 6 ไอโซเลท Aspergillussp.5 ไอโซเลท Botryodiplodia sp. 5 ไอโซเลท Monilia sp. 35 ไอไซเลท Penicillium sp. 46 ไอโซเลท P. citrinum 6 ไอโซเลท Rhizopus stolonifer 12 ไอโซเลท Trichoderma virens 7 ไอโซเลท และ Trichoderma atroviride 6 ไอโซเลท
การสำรวจความเสียหายจากเชื้อราปนเปื้อนในแต่ละเดือนของก้อนเชื้อขี้เลื่อยระยะบ่มเส้นใยเป็นเวลา 9 เดือน ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม พ.ศ. 2551 จำนวนทั้งสิ้น 27,600 ก้อน พบก้อนเชื้อมีการปนเปื้อน 7,655 และความเสียหายเกิดขึ้นมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ คิดเป็นร้อยละ 59 และน้อยที่สุดในเดือนตุลาคม คิดเป็นร้อยละ 12 และเชื้อสาเหตุที่พล ได้แก่ Aspergillus, Penicillium, Rhiaopus, Trichoderma และ Monilia ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47, 38, 7, 4 และ 3 ของปริมาณเชื้อปนเปื้อนทั้งหมดตามลำดับ เมื่อนำมาทดสอบระดับความต้านทานของเชื้อเห็ดยานางิและเชื้อเห็ดนางรมดอยต่อเชื้อปนเปื้อนชนิดต่างๆ ด้วยวิธี Dual Cultureพบว่าบนหัวเชื้อวุ้นเชื้อเห็นทั้งสองชนิดถูกรุกราน 60-90% ส่วนบนหัวเชื้อข้าวฟ่างถูกรุกราน 30-60% และก้อนขี้เลื่อยถูกรุกราน 10-30%
จากการศึกษาผลของการปนเปื้อนต่อการให้ผลผลิต โดยก้อนเชื้อขี้เลื่อยเห็ดนางรมดอยมาทำให้ปนเปื้อนด้วยเชื้อ Aspergillus fumigatesไอโซเลท AG2 และฉีดพ่นผลผลิตด้วย CaCl2 ที่ความเข้มข้น 0.5%, 1.0%, 1.5%, 2.0% และ 2.5% ในระยะสร้างดอก 1, 2 และ 3 วัน ก่อนการเก็บเกี่ยว เมื่อถึงอายุการเก็บเกี่ยวทำความสะอาดและแยกขนาดดอกเห็ดเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ บรรจุเห็ดทั้ง 3 ขนาด ลงในกล่องพลาสติกใสแล้วหุ้มด้วยแผ่นฟิล์มโพลีไวนิลคลอไรด์ (PCV) เก็บเห็ดนางรมดอยไว้ที่อุณหภูมิ 4, 10 และ 15 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 4, 8 และ 12 วัน พบว่าการฉีดพ่นผลผลิตระยะเวลา 1 วัน ก่อนการเก็บเกี่ยว ให้น้ำหนักมากที่สุดที่ความเข้มข้นต่างๆ ได้ น้ำหนัก 37.7g, 37.0g, 35.5g, 29.6g และ 29.3g ตามลำดับ และที่ระดับความเข้มข้น CaCl2 2.5% ให้ผลดีที่สุดที่อายุการเก็บรักษา 4, 8 และ 12 วัน 4 องศาเซลเซียส ค่าความแน่นเนื้อ 42, 38 และ 37 นิวตัน ตามลำดับ ค่าความสว่าง 82, 81 และ 81 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ดังนั้นสามารถใช้ระยะฉีดพ่น 3 วัน ก่อนการเก็บเกี่ยวด้วยสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ที่ระดับความเข้มข้น 2.5% เพราะสามารถป้องกันการเน่าเสียได้