การพัฒนาเครื่องกลคัดขนาดผลชมพู่และเทคนิคแบบไม่ทำลายสำหรับการประเมินวัยของมะพร้าวอ่อน
กระวี ตรีอำนรรค
วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วิศวกรรมเกษตร) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 155 หน้า. 2554.
2554
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาและทดสอบเครื่องคัดขนาดผลชมพู่ และศึกษาถึงความสัมพันธ์ของคุณสมบัติทางกายภาพ เสียง และแสง ที่ได้จากการทดสอบแบบไม่ทำลาย ต่อการจำแนกวัยของผลมะพร้าวอ่อน
ความเร็วและมุมเอียงของสายพานคัดขนาด ความเร็วของสายพานป้อน รูปแบบการวางป้อนผลชมพู่ มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อการคัดขนาดผลชมพู่ (p<0.05) สภาวะการทำงานที่เหมาะสมต่อการคัดขนาด ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของชมพู่ สมรรถนะการคัดขนาดที่ดีที่สุด พบว่ามีเปอร์เซนต์การคัดผิดเป็น 10.8-16.5 %ที่อัตราการทำงานสูงสุด149.7-195.1 kg hr-1 โดยที่ไม่ปรากฏความเสียหายเชิงกลต่อผลชมพู่ที่ถูกคัดขนาดด้วยเครื่องอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่การคัดขนาดด้วยคนของสวนส่งออกมีเปอร์เซนต์การคัดผิด 27.9 %
ความถ่วงจำเพาะ เส้นผ่านศูนย์กลาง และความสูง ของมะพร้าวอ่อนพันธุ์น้ำหอม มีความแตกต่างกันในมะพร้าวอ่อน วัยอ่อน กับกลุ่มของวัยพอดีและแก่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)การตอบสนองทางเสียง มีความแตกต่างกันในแต่ละวัย การดูดกลืนแสงในช่วงแสงสีเขียวและสีเหลือง ที่บริเวณใกล้เปลือกขั้วผลมีศักยภาพที่จะใช้จำแนกวัยมะพร้าวอ่อนได้ ฟังก์ชั่นการจำแนกวัยจากตัวแปรการทดสอบแบบไม่ทำลายทุกตัวแปร เมื่อวิเคราะห์ผลด้วยวิธีการ Discriminant analysis สามารถจำแนกวัยในมะพร้าวอ่อนได้ดี โดยแยกวัยอ่อนและพอดี ออกจากวัยแก่ ได้ถูกต้อง 88.7% และแยกวัยอ่อนออกจากวัยพอดีได้ถูกต้อง 89.2%ในตัวอย่างมะพร้าวอ่อนที่ถูกทดสอบการจำแนกวัย