กระบวนการหลุดร่วงของลองกองหลังการเก็บเกี่ยวและการควบคุม
ประพิณพร แต่สกุล
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 126 หน้า. 2554.
2554
บทคัดย่อ
การหลุดร่วงของผลลองกองเป็นปัญหาสำคัญหลังการเก็บเกี่ยว ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของกระบวนการหลุดร่วงของผลลองกองคือ เอทิลีน โดยพบว่าการหลุดร่วงจะสูงมากขึ้นตามความเข้มข้นของเอทิลีนที่ได้รับ และอัตราการผลิตเอทิลีนของลองกองมีความสัมพันธ์กับอายุเก็บเกี่ยว อุณหภูมิเก็บรักษา และการเข้าทำลายของโรค ลองกองที่มีอายุมากกว่า (15 สัปดาห์หลังดอกบาน) ผลิตเอทิลีนสูงมากกว่าลองกองอายุน้อย (13 สัปดาห์หลังดอกบาน) การเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง (29±2 °C) ลองกองผลิตเอทิลีนสูงมากกว่าที่ 18 °Cและการเข้าทำลายของโรคหลังการเก็บเกี่ยวกระตุ้นการสร้างเอทิลีนให้สูงมากขึ้น การศึกษาการใช้สารยับยั้งการสร้างหรือการทำงานของเอทิลีน พบว่าลองกองที่จุ่มในสารละลาย NAA 200 µl/L นาน 3 นาที หรือรมด้วย 1-MCP 1,000 nl/L นาน 6-12 ชั่วโมงหลังการเก็บเกี่ยว ลดการผลิตเอทิลีน ทำให้การหลุดร่วงระหว่างการเก็บรักษาช้าลง แต่การรมด้วย 1-MCP ชะลอการหลุดร่วงได้ดีกว่า NAA ส่วน GA3 ไม่สามารถชะลอการหลุดร่วงได้ สำหรับการศึกษาทางกายวิภาค พบว่าการหลุดร่วงของลองกองเกิดขึ้นที่ 2 ตำแหน่งได้แก่ บริเวณระหว่างก้านช่อกับกลีบเลี้ยง เกิดขึ้นเมื่อมีเชื้อโรคเข้าทำลาย และได้รับเอทิลีนจากภายนอก บริเวณนี้พบว่าเป็น abscission zone เพราะมีเซลล์ขนาดเล็กกว่าเซลล์ที่อยู่รอบ ๆ และมีขนาดค่อนข้างใกล้เคียงกัน มีการเรียงตัวของเซลล์เป็นแถว และจัดเรียงกันเป็นชั้นเซลล์ที่หนาแน่นและต่อเนื่องในแนวเส้นรอบวงนอกบริเวณท่อลำเลียง ส่วนอีกตำแหน่งได้แก่ บริเวณระหว่างกลีบเลี้ยงกับผล เกิดขึ้นเมื่อผลได้รับแรงภายนอกที่มากระทำเท่านั้น เซลล์ในบริเวณนี้มีขนาดไม่สม่ำเสมอ ผนังบาง ไม่มีการเรียงตัวของเซลล์เป็นแถว และไม่มีการเรียงตัวของชั้นเซลล์และต่อเนื่องเหมือนกับเซลล์ในบริเวณก้านช่อกับกลีบเลี้ยง