ชีววิทยาหลังการเก็บเกี่ยวผลมะพร้าวอ่อน
เกรียงไกร มีถาวร
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 121 หน้า.
2554
บทคัดย่อ
การศึกษาอัตราการหายใจและการผลิตเอทธิลีนในผลมะพร้าวอายุเนื้อชั้นครึ่ง(6.5 เดือนหลังดอกบาน) และสองชั้น(7 เดือนหลังดอกบาน)ที่อุณหภูมิ 25ºCพบว่ามะพร้าวทั้ง 2 อายุมีอัตราการหายใจและการผลิตเอทธิลีนไม่แตกต่างกัน โดยผลที่ไม่ปอกเปลือกมีอัตราการหายใจและการผลิตเอทธิลีนประมาณ 25 mgCO2hr-1kg-1และ 200 nLC2H4kg-1hr-1ตามลำดับเมื่อปอกเปลือกแบบควั่นและแบบเจียแล้วมีอัตราการหายใจเพิ่มขึ้นประมาณ2และ2.5 เท่า และมีอัตราการผลิตเอทธิลีนเพิ่มขึ้นประมาณ7เท่าการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีพบว่าปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้มีค่าคงที่ประมาณ 7.6 ºBrix และไม่แตกต่างกันในทุกสภาพการเก็บรักษาปริมาณกรดที่ไตเตรตได้มีค่าคงที่ประมาณ 0.07% และไม่แตกต่างกันในทุกสภาพการเก็บรักษายกเว้นการห่อหุ้มแบบสุญญากาศ ความเข้มข้นของออกซิเจนที่ละลายได้ในน้ำมะพร้าวมะพร้าวที่อุณหภูมิ 4ºCค่อนข้างคงที่ประมาณ 0.15 µl/L เมื่อปอกเปลือกมีความเข้มข้นของออกซิเจนที่ละลายได้เพิ่มขึ้นเป็น 0.2-0.3 µl/L และเมื่อห่อหุ้มผลที่ปอกเปลือกด้วยฟิล์มพลาสติกไม่ว่าชนิดใดก็ตามความเข้มข้นของออกซิเจนที่ละลายได้ต่ำกว่า 0.1 µl/L แต่ที่อุณหภูมิ 25ºC นั้นตรวจไม่พบออกซิเจนในน้ำมะพร้าว ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในน้ำมะพร้าวทุกรูปแบบที่อุณหภูมิ 25ºC อยู่ระหว่าง 200-300 ppm และมีค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนที่ 4ºC ผลมะพร้าวทุกรูปแบบมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ค่อนข้างคงที่ในช่วงแรกและเพิ่มขึ้นหลังเก็บรักษาได้ 21 วันปริมาณ malondialdehyde (MDA) ในน้ำมะพร้าวที่อุณหภูมิ 25ºC มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยระหว่างการเก็บรักษาแต่ไม่แตกต่างกันในมะพร้าวทุกรูปแบบ ส่วนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4ºC MDA ในผลมะพร้าวทุกรูปแบบไม่แตกต่างกันและมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นระหว่างการเก็บรักษากว่า 50%เมื่อเทียบกับอุณหภูมิ 25ºCกรดไขมันในเนื้อมะพร้าวร้อยละ 90 เป็นกรดไขมันอิ่มตัวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนที่เหลือเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวและมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย กรดไขมันในน้ำมะพร้าวเมื่อเริ่มต้นพบเฉพาะกรดไขมันอิ่มตัว และในระหว่างการเก็บรักษาพบกรดไขมันไม่อิ่มตัวปริมาณเล็กน้อย