คุณลักษณะของแอนโทไซยานินในดอกกล้วยไม้แวนด้าลูกผสม
นิตยา จันกา
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 133 หน้า. 2554.
2554
บทคัดย่อ
แวนด้าเป็นกล้วยไม้ที่มีความสำคัญทางด้านการค้าของประเทศไทย ซึ่งเป็นพืชดอกมีสีสันและรูปทรงหลากหลาย ในงานวิจัยนี้ทำการศึกษาชนิด ความเสถียรภาพและความสามารถในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระของแอนโทไซยานินจากดอกกล้วยไม้แวนด้าพันธุ์ลูกผสม นอกจากนี้ยังศึกษารูปแบบการสะสมและการแสดงออกของยีนในระหว่างการพัฒนาดอกกล้วยไม้แวนด้าลูกผสมระหว่างพันธุ์ที่มีดอกสีม่วงอ่อนเปรียบเทียบกับดอกสีขาว เมื่อเปรียบเทียบระยะการเจริญเติบโตของดอกกล้วยไม้พบว่าดอกกล้วยไม้ที่มีสีม่วงอ่อนมีการสะสมแอนโทไซยานินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะดอกตูมมีการสะสมแอนโทไซยานิน 9.19 mg/100 g FW ในขณะที่ระยะดอกบานมีการสะสมแอนโทไซยานินสูงที่สุดคือ 14.09 mg/100 g FWส่วนดอกสีขาวไม่มีการสะสมแอนโทไซยานิน ปริมาณคลอโรฟิลล์เอมีปริมาณที่สูงที่สุดในระยะดอกตูมและลดลงอย่างรวดเร็วระหว่างการพัฒนาของดอกทั้งพันธุ์สีม่วงและดอกสีขาว ปริมาณแอนโทไซยานินในดอกสีม่องอ่อนมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับค่าสี a* (R2 = 0.7276) แต่มีความสัมพันธ์แบบถดถอยกับค่า L* (R2 = 0.9023) ในระยะดอกบาน (FB) ของกล้วยไม้แวนด้าสีม่วงอ่อนมีแอนโทไซยานินหลัก 5 ชนิดโดยทุกชนิดเป็นอนุพันธ์ของไซยานิดินซึ่งมีการเชื่อมต่อกับและน้ำตาลเฮ็กโซส (C6) และกรดอินทรีย์ เช่น ferrulic acid sinapic acid และ malonic acid แอนโทไซยานินจากดอกกล้วยไม้เมื่อละลายอยู่ในพีเอช 4.5 มีการดูดกลืนแสงสูงสุดเคลื่อนที่เพิ่มขึ้นไปทางด้านขวามือ (bathochromic shift) มากกว่า 1ยอดคือ 544 nm และ 584 nmเนื่องจากมีองค์ประกอบอื่นที่มาเชื่อมต่อกับโครงสร้างโมเลกุลของแอนโทไซยานินจึงส่งผลให้มีความเสถียรมากขึ้น แอนโทไซยานินที่จากดอกกล้วยไม้แวนด้าลูกผสมมีความเสถียรที่คล้ายกับแอนโทไซยานินที่ได้จากดอกอัญชัญซึ่งโมเลกุลมีการเชื่อมต่อของกรดอินทรีย์เป็นจำนวนมาก (polyacylated anthocyanins) เมื่อเก็บรักษาที่พีเอช 1.0 เป็นเวลานาน 6เดือนในที่มืดมีความแตกต่างจากแอนโทไซยานินที่ได้จากองุ่นแดงซึ่งเป็นแอนโทไซยานินที่ไม่มีการเชื่อมต่อของกรดอินทรีย์ (non acylated anthocyanins) การเปลี่ยนแปลงค่าสีของแอนโทไซยานิน (DE*)พบว่า saponified anthocyanins มีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยที่สุด (9.55) เมื่อเทียบกับ extracted anthocyanins (11.80) การศึกษากิจกรรมต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดแอนโทไซยานินจาก
ดอกกล้วยไม้ลูกผสมแวนด้าพบว่าแอนโทไซยานินที่ผ่านขั้นตอนการกำจัดกรดอินทรีย์ออก (saponified anthocyanins) มีการต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าชุดทดลองอื่นที่ความเข้มข้นเดียวกัน การศึกษาการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์แอนโทไซยานินจำนวน 4ยีน ได้แก่ phenylalanine ammonia-lyase (Va-PAL), chalcone synthase (Va-CHS), flavanone 3-hydroxylase (Va-F3H) และdihydroflavonol 4-reductase (Va-DFR)จากดอกกล้วยไม้ลูกผสมแวนด้าพบว่าสามารถโคลนยีนได้ทั้ง 4ชนิดมีขนาดความยาว nucleotide sequence ดังนี้คือ 697 538 536 และ 445 bpซึ่งแปลรหัสเป็นโปรตีนมีขนาด 231 178 178 และ 148 amino acid (aa) นอกจากนี้พบว่าการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์แอนโทไซยานินมีการแสดงออกค่อนข้างสูงระหว่างการพัฒนาของดอกยกเว้นยีน Va-F3H ซึ่งพบว่ามีการแสดงออกค่อนข้างต่ำในนส่วนของ vegetative organและมีการแสดงออกที่ต่ำมากในทุกระยะการเจริญของดอกสีขาว ดังนั้นยีนVa-F3Hอาจจะเป็นยีนที่สำคัญที่เป็นตัวควบคุมการสังเคราะห์แอนโทไซยานินในดอกกล้วยไม้ลูกผสม