บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการรมไอกรดอะซิติกและรังสีแกมมาต่อการควบคุมโรคผลเน่าจากเชื้อรา Aspergillus niger และคุณภาพของลำไยพันธุ์ดอ

นิธิภัทร บุญปก

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 139 หน้า. 2554.

2554

บทคัดย่อ

ผลของการรมไอกรดอะซิติกและรังสีแกมมาต่อการควบคุมโรคผลเน่าจากเชื้อรา Aspergillus niger และคุณภาพของลำไยพันธุ์ดอ

การศึกษาผลของกรดอะซิติกต่อการเจริญของเส้นใยและการงอกของสปอร์เชื้อรา Aspergillus nigerสาเหตุโรคผลเน่าของลำไยบนอาหารเลี้ยงเชื้อ พบว่า การรมด้วยไอของกรดอะซิติกความเข้มข้น 99.5เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลานาน 30 นาทีขึ้นไป สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยและการงอกของสปอร์เชื้อราได้อย่างสมบูรณ์  เมื่อทำการศึกษาผลของการรมผลลำไยพันธุ์ดอด้วยไอของกรดอะซิติกความเข้มข้น 99.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 30 นาที เพื่อควบคุมโรคผลเน่าของลำไยที่เกิดจากเชื้อรา Aspergillus niger พบว่า การรมลำไยด้วยไอของกรดอะซิติกสามารถชะลอการเกิดโรคผลเน่าของลำไยได้ แต่การรมลำไยด้วยไอของกรดอะซิติกส่งผลทำให้เปลือกลำไยมีสีคล้ำลง (ค่า L* ลดลง) และมีอัตราการหายใจ ความแน่นเนื้อของเปลือก การรั่วไหลของไอออนของเนื้อ กิจกรรมเอนไซม์โพลีฟีนอลออกซิเดส (PPO) และเอนไซม์เปอร์ออกซิเดส (POD) ของเปลือกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับลำไยที่ไม่รมด้วยไอของกรดอะซิติก สำหรับการศึกษาผลของการรมผลลำไยด้วยไอของกรดอะซิติกความเข้มข้น 99.5 เปอร์เซ็นต์  เป็นเวลา 30 นาที ร่วมกับการฉายรังสีแกมมาที่ปริมาณ 400±10 เกรย์ ก่อนเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส นาน 28 วัน พบว่า การรมด้วยไอของกรดอะซิติกช่วยลดการเกิดโรคผลเน่าของลำไยที่ผ่านการฉายรังสีแกมมาลงได้ 26–39 เปอร์เซ็นต์ แต่การรมลำไยด้วยไอของกรดอะซิติกแล้วนำไปฉายรังสีแกมมา มีผลทำให้ลำไยมีการสูญเสียน้ำหนักสด เปลือกด้านในของผลลำไยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และมีความแน่นเนื้อของเปลือกสูงกว่าลำไยที่ไม่รมไอของกรดอะซิติก อย่างไรก็ตาม การรมลำไยด้วยไอของกรดอะซิติกแล้วนำไปฉายรังสีแกมมานั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อความแน่นเนื้อของเนื้อ  สีเนื้อ และการรั่วไหลของไอออนของเนื้อลำไย