บทคัดย่องานวิจัย

ผลของชนิดฟิล์มพลาสติก สัดส่วนของก๊าซ O2 และ CO2 และการบรรจุแบบแอกตีฟต่อคุณภาพของบร็อคโคลินี

นงลักษณ์ เจริญจงสุข

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 143 หน้า. 2554.

2554

บทคัดย่อ

ผลของชนิดฟิล์มพลาสติก สัดส่วนของก๊าซ O2 และ CO2 และการบรรจุแบบแอกตีฟต่อคุณภาพของบร็อคโคลินี

ในปัจจุบันการวางจำหน่ายบร็อคโคลินีมีทั้งแบบที่ใช้บรรจุภัณฑ์ และไม่ใช้บรรจุภัณฑ์โดยการใช้บรรจุภัณฑ์นั้นสามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงคุณภาพได้ดีกว่าการวางจำหน่ายแบบไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ งานวิจัยนี้จึงได้ทำการศึกษาผลของ Modified Atmosphere Packaging (MAP) ต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของบร็อคโคลินี โดยแบ่งเป็น 3 การทดลอง คือ การทดลองแรก เป็นการศึกษาผลของการใช้บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ คือ Polypropylene (PP), Cast Polypropylene (CPP) และ Oriented Polypropylene (OPP)ต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของบร็อคโคลินี เปรียบเทียบกับบร็อคโคลินีที่ไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ (ชุดควบคุม) ในระหว่างการวางจำหน่ายที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียสพบว่าการใช้บรรจุภัณฑ์ชนิด OPP บรรจุบร็อคโคลินีมีประสิทธิภาพในการชะลอการสูญเสียปริมาณคลอโรฟิลล์ทั้งหมด วิตามินซี และน้ำตาลทั้งหมดและชะลอการเปลี่ยนแปลงสีดอกได้ดีกว่าบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ  และสามารถยืดอายุการวางจำหน่ายได้นานถึง 7 วัน ในขณะที่บร็อคโคลินีที่ไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ (ชุดควบคุม) มีอายุการวางจำหน่ายเพียง 4 วัน ในการทดลองที่ 2 ผลของความเข้มข้นของก๊าซที่ใช้ในการบรรจุแบบ Active Modified Atmosphere Packaging ต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของบร็อคโคลินีในระหว่างการวางจำหน่ายที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียสโดยทำการบรรจุบร็อคโคลินีในบรรจุภัณฑ์ชนิด OPP แล้วเติมก๊าซออกซิเจนความเข้มข้นร้อยละ 2 และ 21 ร่วมกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้นร้อยละ 0.03 5 และ 10 พบว่า การใช้บรรจุภัณฑ์ชนิด OPP ร่วมกับก๊าซออกซิเจนความเข้มข้นร้อยละ 2  + ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 5 ให้ผลดีที่สุดในการชะลอการเปลี่ยนแปลงสีดอก การสร้างเส้นใยการสูญเสียปริมาณน้ำตาลทั้งหมด และคงความแน่นเนื้อ  เมื่อเปรียบเทียบกับบร็อคโคลินีที่ใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดOPP ร่วมกับสภาพบรรยากาศปกติ  การทดลองที่ 3 การศึกษาผลการบรรจุแบบแอกทีฟต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของบร็อคโคลินี ที่อุณหภูมิการวางจำหน่าย 13 องศาเซลเซียส โดยทำการบรรจุบร็อคโคลินีในบรรจุภัณฑ์ชนิด OPP ร่วมกับการใช้สารดูดซับออกซิเจน หรือ สารดูดซับเอทิลีน และสารดูดซับออกซิเจน + สารดูดซับเอทิลีน เปรียบเทียบกับบร็อคโคลินีที่ใช้บรรจุภัณฑ์ชนิด OPP เพียงอย่างเดียว (ชุดควบคุม)พบว่า การใช้บรรจุภัณฑ์ OPP ร่วมกับสารดูดซับเอทิลีนสามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสีดอก ค่าแรงเฉือน การเปลี่ยนแปลงความแน่นเนื้อ การสูญเสียปริมาณวิตามินซี  ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด  ปริมาณคลอโรฟิลล์ทั้งหมด และ กิจกรรมของเอนไซม์ Ascorbate peroxidase ได้ดีกว่าชุดการทดลองอื่น ๆ