บทคัดย่องานวิจัย

ผลของน้ำตาลซูโครสและสารยับยั้งเอทิลีน ต่ออายุการใช้งานของดอกกล้วยไม้สกุลมอคคารา

นิรชรา ปรัชญารัตนเมธี

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 128 หน้า. 2554.

2554

บทคัดย่อ

ผลของน้ำตาลซูโครสและสารยับยั้งเอทิลีน ต่ออายุการใช้งานของดอกกล้วยไม้สกุลมอคคารา

ประเทศไทยมีการส่งออกกล้วยไม้จำนวนมากโดยเฉพาะกล้วยไม้ตระกูลมอคคารา แต่กล้วยไม้สกุลมอคคาราภายหลังการเก็บเกี่ยวเมื่อนำไปปักแจกันมักมีปัญหาการเกิดสีน้ำตาลของดอกตูม และการหลุดร่วงของดอกย่อย งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของน้ำตาลซูโครสและสารยับยั้ง เอทิลีนต่อคุณภาพและอายุการใช้งานของดอกกล้วยไม้มอคคาราการทดลองประกอบด้วยการศึกษาระดับความเข้มข้นของน้ำตาลซูโครสร้อยละ 1, 2 และ 4 ต่ออายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้ สกุลมอคคารา 2สายพันธุ์ คือมอคคาราเหลือง และมอคคาราอ้อมใหญ่ ซึ่งมีดอกตูม 3-4 ดอก จากผลการทดลองพบว่าการให้น้ำตาลซูโครสระดับความเข้มข้นต่างๆ (ร้อยละ 1, 2 และ 4) ไม่มีผลต่อคุณภาพของช่อดอกอย่างมีนัยสำคัญ แต่สายพันธุ์กล้วยไม้มอคคารามีผลต่อการตอบสนองสารละลายปักแจกัน โดยพบว่าเมื่อปักช่อดอกกล้วยไม้มอคคาราเหลืองในสารละลายเคมีที่มีส่วนประกอบของ 8-hydroxyquinoline sulfate (8-HQS) เข้มข้น 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับน้ำตาลซูโครสเข้มข้น ร้อยละ 4 ทำให้ช่อดอกมีความสามารถในการดูดน้ำเพิ่มขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสดน้อยลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมทั้งมีการบานของดอกตูมเพิ่มมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับ ความเข้มข้นอื่นๆ และสามารถยืดอายุการปักแจกันได้นาน16.4วัน ส่วนในกล้วยไม้สายพันธุ์ มอคคาราอ้อมใหญ่พบว่าการปักช่อดอกในสารละลาย 8-HQSความเข้มข้น 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับน้ำตาลซูโครสความเข้มข้นร้อยละ 4มีผลทำให้มีการบานของดอกตูมในช่อดอกเพิ่มขึ้นและลดการหลุดร่วงของดอกบานได้ แต่การปักช่อดอกในสารละลายดังกล่าวไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสดของช่อดอก ความสามารถในดูดน้ำ และอายุการปักแจกัน ซึ่งการให้น้ำตาลซูโครสเป็นแหล่งอาหารเพียงอย่างเดียวไม่สามารถชะลอการเสื่อมสภาพของช่อดอกกล้วยไม้มอคคาราอ้อมใหญ่ได้ จึงได้ทำการศึกษาผลของเอทิลีนที่มีต่อคุณภาพช่อดอกกล้วยไม้มอคคาราอ้อมใหญ่

การศึกษาผลของเอทิลีนจากภายนอกต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้มอคคารา อ้อมใหญ่ พบว่าช่อดอกกล้วยไม้มอคคาราอ้อมใหญ่ปักในสารละลายซูโครสความเข้มข้นร้อยละ4 ร่วมกับ 8-HQS ความเข้มข้น 200 มิลลิกรัมต่อลิตร แล้วนำไปพ่นด้วยเอทิฟอนความเข้มข้น 50, 100 และ 200 ppm ส่งผลให้อายุการปักแจกันของช่อดอกกล้วยไม้สั้นลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเปรียบเทียบกับชุดควบคุมที่ไม่ได้รับเอทิฟอน และช่อดอกที่ได้รับเอทิฟอนความเข้มข้นสูง (100-200 ppm)จะเริ่มมีการเสื่อมสภาพ และหลุดร่วงเร็วกว่าช่อดอกที่ได้รับความเข้มข้นต่ำจากการศึกษาผลของสารละลายน้ำตาลซูโครสร่วมกับ 8-HQS และสารยับยั้งเอทิลีน 2 ชนิด คือ aminooxyacetic acid (AOA) และ silver nitrate (AgNO3) โดยการทำพัลซิ่ง เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ก่อนให้เอทิลีนจากภายนอก โดยพ่นด้วยสารเอทิฟอนความเข้มข้น 100 ppm วางไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ภายใต้สภาพแสงฟลูออเรสเซนต์ผลจากการศึกษาพบว่าคุณภาพของช่อดอกกล้วยไม้มอคคาราอ้อมใหญ่ซึ่งปักในสารละลาย AOA ความเข้มข้น 0.25 mM ร่วมกับ 8-HQS ความเข้มข้น 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และน้ำตาลซูโครสความเข้มข้นร้อยละ 4 มีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสด และอัตราการหลุดร่วงของช่อดอกน้อยที่สุด และยืดอายุการใช้งานได้ 8.4 วัน ในขณะที่ช่อดอกของชุดควบคุมมีอายุการใช้งานประมาณ 6.6 วัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การพัลซิ่งช่อดอกกล้วยไม้มอคคาราพันธุ์อ้อมใหญ่ด้วยน้ำตาลซูโครสร้อยละ4 และ 8-HQSความเข้มข้น 200 มิลลิกรัมต่อลิตรร่วมกับการใช้สารยับยั้งเอทิลีน พบว่าคุณภาพของช่อดอกกล้วยไม้ที่ผ่านการทำพัลซิ่งไม่มีความแตกต่างจากช่อดอกกล้วยไม้ในชุดควบคุม แต่การใช้สารลาย AgNO3 ความเข้มข้น 30 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ 8-HQSความเข้มข้น 200 มิลลิกรัมต่อลิตรและซูโครส ความเข้มข้นร้อยละ4 มีแนวโน้มทำให้ช่อดอกมีการดูดสารละลายดีขึ้น ชะลอการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสดดีที่สุด และส่งผลให้การบานเพิ่มของดอกตูมดีที่สุดเมื่อ เปรียบเทียบกับทรีตเมนต์อื่นๆ

จากการศึกษาปริมาณน้ำตาลซูโครสและกิจกรรมของเอนไซม์ cell wall invertase ในดอกตูม ดอกแย้ม และดอกบาน พบว่ามีค่าใกล้เคียงกัน และไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติในทั้ง 2 สายพันธุ์ แต่ดอกย่อยในชุดควบคุมมีกิจกรรมของเอนไซม์ cell wall invertase มากกว่าดอกย่อยในช่อดอกที่ปักในสารละลายน้ำตาลซูโครสความเข้มข้นร้อยละ4 ร่วมกับ 8-HQS ความเข้มข้น 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ผลจากการศึกษาจึงสามารถสรุปผลได้คือ สารละสารละลายปักแจกันที่มีน้ำตาลซูโครสเป็นส่วนประกอบสามารถยืดอายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้มอคคาราพันธุ์เหลือง แต่ไม่สามารถยืดอายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้พันธุ์อ้อมใหญ่ได้ อาจเป็นผลมาจากการตอบสนองต่อเอทิลีนของดอกย่อยของดอกกล้วยไม้พันธุ์อ้อมใหญ่ได้ดีจึงมีผลให้การบานของดอกตูม การร่วงของดอกย่อยเกิดขึ้นรวดเร็วและอายุการปักแจกันสั้นเมื่อเทียบกับกล้วยไม้มอคคาราพันธุ์เหลือง และเมื่อมีการใช้สารยับยั้งเอทิลีน AOAในสารละลายพัลซิ่งจึงส่งผลให้สามารถยืดอายุการปักแจกันของช่อดอกได้