อิทธิพลของเอทิลีน สารยับยั้งการสร้างและการทำงานของเอทิลีนต่อการเสื่อมสภาพในดอกกล้วยไม้สกุลมอคคาร่าพันธุ์ ‘หมูแดง’ และ ‘ดาวลาย’
เมลดา วงค์จันตา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 98 หน้า. 2554
2554
บทคัดย่อ
เอทิลีนเป็นฮอร์โมนพืชที่สำคัญในการชักนำการเสื่อมสภาพในดอกไม้หลายๆ ชนิด งานวิจัยในครั้งนี้ ศึกษาอิทธิพลในการให้เอทิลีนและ สารยับยั้งการสร้างและการทำงานของเอทิลีนก่อนการปักแจกันต่อการเสื่อมสภาพและอายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้สกุลมอคคาร่า 2 สายพันธุ์ คือ ‘หมูแดง’ และ ‘ดาวลาย’ภายหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งช่อดอกกล้วยไม้สกุลมอคคาร่าทั้ง 2 พันธุ์ ที่ระยะการบาน 75 เปอร์เซ็นต์ (ดอกบาน 3 ส่วน ดอกตูม 1 ส่วน) ที่ปักในสารละลายเอทิฟอน (สารปลดปล่อยเอทิลีน) ความเข้มข้น 10 ppm นาน 24 ชั่วโมง (การทำพัลซิ่ง) แล้วนำมาปักแจกันในน้ำกลั่นและเก็บในห้องที่อุณหภูมิ 21±2 ºC ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ให้แสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์นาน 12 ชั่วโมงต่อวัน มีการผลิตเอทิลีนสูงขึ้นมากและสูงที่สุดในวันที่ 4 ของการปักแจกัน ส่วนปริมาณ 1-aminocyclopropene-1-carboxylic acid(ACC) กิจกรรมของเอนไซม์ ACC Synthase (ACS) และ ACC Oxidase (ACO) เพิ่มสูงขึ้นตลอดระยะเวลาการปักแจกัน การเสื่อมสภาพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในพันธุ์ ‘หมูแดง’แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (P<0.01) เมื่อเทียบกับชุดควบคุม (ช่อดอกกล้วยไม้ที่พัลซิ่งด้วยน้ำกลั่น) โดยช่อดอกกล้วยไม้สกุลมอคคาร่าพันธุ์ ‘หมูแดง’ และ ‘ดาวลาย’ที่พัลซิ่งด้วยสารละลายเอทิฟอน มีอายุการปักแจกัน เท่ากับ 4.3 และ 6.6วัน เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม ที่มีอายุการปักแจกัน 8.1 และ 11.3วัน ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อนำช่อดอกกล้วยไม้สกุลมอคคาร่าทั้ง 2 สายพันธุ์ มาทดลองให้สารยับยั้งการสร้างและการทำงานของเอทิลีนโดยทำการพัลซิ่งด้วยสารละลาย Aminooxyacetic acid (AOA) และSilver thiosulfate (STS)ที่ระดับความเข้มข้น 0.5 mM นาน 24 ชั่วโมง หรือรมด้วยสาร 1-methylcyclopropene (1-MCP) ที่ระดับความเข้มข้น 200 nl•L-1นาน 6 ชั่วโมง ก่อนย้ายมาปักในน้ำกลั่นตลอดระยะเวลาการปักแจกัน ที่อุณหภูมิห้อง 21±2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 เปอร์เซ็นต์ และมีแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ 12 ชั่วโมงต่อวัน พบว่า ชนิดของสารยับยั้งเอทิลีนมีผลต่อการผลิตเอทิลีน ปริมาณ ACC กิจกรรมของเอนไซม์ ACS และ ACO และการเสื่อมสภาพ โดยดอกกล้วยไม้พันธุ์ ‘หมูแดง’ (อายุการปักแจกันสั้น) ในชุดควบคุมที่พัลซิ่งด้วยน้ำกลั่น หรือรมด้วยอากาศปกติ มีการผลิตเอทิลีนที่สูง โดยสูงเป็น 5 เท่าของชุดการทดลองที่รม 1-MCP หรือพัลซิ่งด้วยสารละลาย STSและสารละลาย AOAซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณ ACC กิจกรรมของเอนไซม์ ACS และ ACO ตลอดระยะเวลาการปักแจกันส่งผลให้มีการเสื่อมสภาพเร็วและมีอายุการปักแจกันสั้นเพียง 8.1 และ 8.4 วัน ส่วนดอกกล้วยไม้ที่พัลซิ่งด้วยสารละลาย STS สารละลาย AOA หรือรมด้วย 1-MCP มีอายุการปักแจกันเป็น 11.7 13.4 และ 13.7 วัน ตามลำดับส่วนช่อดอกกล้วยไม้พันธุ์ ‘ดาวลาย’ (อายุการปักแจกันยาว) ที่พัลซิ่งด้วยน้ำกลั่น หรือรมด้วยอากาศปกติ (ชุดควบคุม) มีการผลิตเอทิลีนสูง โดยสูงเป็น 1.9 เท่าของชุดการทดลองที่ใช้สารยับยั้งการสร้างและการทำงานของเอทิลีน สัมพันธ์กับปริมาณ ACC และกิจกรรมของเอนไซม์ ACO ที่เพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามกับอายุการปักแจกันที่สั้นลงเป็น 11.8 และ 11.3 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับดอกกล้วยไม้ที่พัลซิ่งด้วยสารละลาย STS สารละลาย AOA หรือรมด้วย 1-MCP ที่มีอายุการปักแจกัน 12.8 14.1 และ 14.8 วัน ตามลำดับ จากการทดลองนี้ แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของเอทิลีนในการชักนำการเสื่อมสภาพในดอกกล้วยไม้สกุลมอคคาร่า