การลดสารตกค้างคลอไพริฟอสในพริกขี้หนูสดหลังการเก็บเกี่ยวโดยการใช้อัลตราโซนิกและโอโซน
ศรัณยา เพ่งผล
วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 156 หน้า. 2555.
2555
บทคัดย่อ
คลอไพริฟอสเป็นสารฆ่าแมลงออร์แกนโนฟอสเฟตที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการปลูกผักและผลไม้ ซึ่งตรวจพบการตกค้างได้ในพืช น้ำ และดิน การทดสอบผลของการใช้อัลตราโซนิก โอโซน และอัลตราโซนิกร่วมกับโอโซนในการลดสารคลอไพริฟอสในพริกขี้หนูสด (Capsicum frutescensLinn.) โดยนำสารละลายคลอไพริฟอสมาตรฐานความเข้มข้น 1 มิลลิกรัมต่อลิตร มาทดสอบกับเครื่องอัลตราโซนิกที่ความถี่ต่างกัน (108, 400, 700 กิโลเฮิรตซ์ และ 1 เมกะเฮิรตซ์) โอโซน และ อัลตราโซนิกร่วมกับโอโซน เป็นเวลา 0, 10, 20, 30, 40, 50 และ 60 นาที แล้ววิเคราะห์ค่าร้อยละของการสลายตัวของสารคลอไพริฟอสมาตรฐานโดยเครื่อง GC-FPD จากการทดลองพบว่าการใช้อัลตราโซนิกที่ความถี่ 1 เมกะเฮิรตซ์ เป็นเวลา 60 นาที สามารถลดปริมาณสาร คลอไพริฟอสดีที่สุดเท่ากับร้อยละ 75.00 ขณะที่การใช้โอโซนที่ความเข้มข้น 200 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นเวลา 60 นาที สามารถลดความเข้มข้นของสารคลอไพริฟอสได้ดีที่สุดร้อยละ 64.54เช่นเดียวกับการใช้อัลตราโซนิก 1 เมกะเฮิรตซ์ ร่วมกับโอโซน เป็นเวลา 60 นาที ให้ผลในการส่งเสริมกันใน การทำให้สารคลอไพริฟอสมาตรฐานลดลงได้มากที่สุดถึงร้อยละ 83.77 เมื่อเปรียบเทียบการใช้ อุลตราโซนิกหรือโอโซนอย่างเดียว โดยอัตราการลดลงของสารเกิดขึ้นสูงในช่วง 10 นาทีแรกของการทดลอง ซึ่งอุณหภูมิและค่าศักย์การออกซิเดชัน-รีดักชันในสารละลายที่เพิ่มขึ้น และการลดลงของค่าความเป็นกรด-ด่างสัมพันธ์กับการสลายตัวของสารคลอไพริฟอสที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ปริมาณไอออนบางชนิดได้แก่ คลอไรด์ ไนเตรท ซัลเฟต และฟอสเฟตที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันของการสลายตัวของสารคลอไพริฟอสด้วยเครื่องไอออนโครมาโทกราฟี พบว่าการใช้อัลตราโซนิกร่วมกับโอโซนทำให้ความเข้มข้นของคลอไรด์ ไนเตรท และซัลเฟตเพิ่มมากที่สุดโดยไม่พบปริมาณของฟอสเฟตที่ปลดปล่อยในสารละลาย เมื่อตรวจสอบสารผลิตภัณฑ์จากปฏิกิริยาออกซิเดชันโดยการวิเคราะห์ด้วยเครื่อง GC-MS พบว่าทุกชุดการทดลองประกอบด้วยชิ้นส่วนของไอออนหลักจากการแตกตัวที่เหมือนกับที่มีในสารคลอไพริฟอสมาตรฐานเท่านั้น
จากการศึกษาการลดลงของสารคลอไพริฟอสที่ตกค้างในพริกขี้หนูสด (Capsicum frutescens Linn.)โดยการใช้อัลตราโซนิก โอโซน และอัลตราโซนิกร่วมกับโอโซน โดยเก็บเกี่ยวผลพริกขี้หนูที่ปนเปื้อนสารคลอไพริฟอสมาล้างด้วยชุดการทดลองดังเช่นข้างต้น แล้วนำมาวิเคราะห์ปริมาณสารคลอไพริฟอสตกค้างด้วยเครื่อง GC-FPD พบว่าการใช้อัลตราโซนิกร่วมกับโอโซนมีประสิทธิภาพในการลดสารตกค้างคลอไพริฟอสในพริกขี้หนูได้สูงสุดเท่ากับร้อยละ 76.81 และสามารถลดการเกิดโรคได้ดีกว่าชุดควบคุมหลังจากการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 สัปดาห์โดยไม่มีผลต่อการสูญเสียน้ำหนักและการเปลี่ยนแปลงสีของพริกขี้หนู
การวิเคราะห์ความเป็นพิษของสารละลายคลอไพริฟอสหลังจากสลายตัวโดยออกซิเดชัน ด้วยการประเมินด้วยค่าความเข้มข้นของสารที่ทำให้สัตว์ทดลองตายไปร้อยละ 50 (LC50) โดยนำสารคลอไพริฟอสที่ผ่านการให้อัลตราโซนิก โอโซน และอัลตราโซนิกร่วมกับโอโซนมาทดสอบกับไรทะเล (Artemia salina L.)พบว่า สารละลายคลอไพริฟอสหลังจากได้รับอัลตราโซนิกร่วมกับโอโซนมีค่าLC50สูงที่สุดเท่ากับ 383.12มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมากกว่าชุดที่ได้รับอัลตราโซนิก โอโซน และชุดควบคุม ซึ่งมีค่า LC50 เท่ากับ 14.25, 52.74 และ 12.29มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ นอกจากนี้การล้างพริกขี้หนูด้วยการใช้อัลตราโซนิกร่วมกับโอโซนยังทำให้น้ำที่ผ่านการล้างมีความเป็นพิษของคลอไพริฟอสตกค้างลดลง