บทคัดย่องานวิจัย

การให้ความร้อนจากคลื่นความถี่วิทยุเพื่อการควบคุมด้วงถั่วเขียวและผลต่อคุณภาพของถั่วเขียวผิวมัน

ภราดร ณ พิจิตร

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2555.

2555

บทคัดย่อ

การให้ความร้อนจากคลื่นความถี่วิทยุเพื่อการควบคุมด้วงถั่วเขียวและผลต่อคุณภาพของถั่วเขียวผิวมัน

ด้วงถั่วเขียวCallosobruchus maculatus (F.) เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญระหว่างการเก็บรักษาเมล็ดถั่วเขียว ระยะตัวหนอนเป็นระยะที่ทำลายภายในเมล็ดถั่วเขียว ทำให้สูญเสียปริมาณและคุณภาพ  การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้คลื่นความถี่วิทยุ (radio frequency; RF) ที่ความถี่ 27.12 MHz ในการกำจัดด้วงถั่วเขียว และผลของ RF ต่อคุณภาพถั่วเขียว  การทดลองที่  1  ศึกษาคุณสมบัติไดอิเลคทริคของเมล็ดถั่วเขียวที่มีความชื้นเริ่มต้น 11 เปอร์เซ็นต์  และระยะการเจริญเติบโตของด้วงถั่วเขียว (ระยะไข่ ระยะหนอน และระยะดักแด้) ด้วยเครื่องวิเคราะห์อิมพีแดนซ์ความแม่นยำสูง  ที่ช่วงความถี่ 0-30 MHz  พบว่า ด้วงถั่วเขียวระยะไข่  ระยะหนอน  และระยะดักแด้ที่อยู่บนหรือในเมล็ดถั่วเขียว  มีความสามารถในการสะสมและปลดปล่อยพลังงานไฟฟ้าได้ดีกว่าเมล็ดถั่วเขียวเพียงอย่างเดียว  การทดลองที่2  ศึกษาความทนทานของด้วงถั่วเขียวต่อคลื่นความถี่วิทยุในระยะไข่  ระยะหนอน  และระยะดักแด้  ที่อยู่ในเมล็ดถั่วเขียวความชื้น 11.0  เปอร์เซ็นต์  บรรจุในถุง laminate  นำไปให้ RF ที่พลังงาน 640 วัตต์ เวลา 120 วินาที  พบว่า ระยะไข่ ระยะหนอน และระยะดักแด้ มีอัตราการตายไม่แตกต่างกันทางสถิติ (P>0.05) เท่ากับ 30.88, 33.90 และ 22.91  เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ  การทดลองที่ 3 ใช้ด้วงถั่วเขียวระยะดักแด้ เป็นตัวแทนของระยะอื่นที่ทนต่อ RF  นำมาศึกษาเพื่อหาระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะทำให้แมลงตายอย่างสมบูรณ์  โดยนำไปให้ RFที่พลังงาน 640 วัตต์ ที่ระยะเวลา  120,140, 160, 180, 200 และ 220 วินาที พบว่า ด้วงถั่วเขียวระยะดักแด้ตายอย่างสมบูรณ์ (100 เปอร์เซ็นต์) ที่ระยะเวลา 220 วินาที  อุณหภูมิสุดท้ายเฉลี่ยเท่ากับ 74.5 ± 0.5  องศาเซลเซียส 

คุณภาพถั่วเขียว (ชุดควบคุม;ไม่ผ่าน RF) เมื่อนำมาวัดปริมาณความชื้น (11.0 เปอร์เซ็นต์)  ค่าความแข็ง (536.11 นิวตัน) ปริมาณคาร์โบไฮเดรต (59.42 เปอร์เซ็นต์) โปรตีน (20.76 เปอร์เซ็นต์)ไขมัน (0.82 เปอร์เซ็นต์)  และเยื่อใย (4.55 เปอร์เซ็นต์)  พบว่าแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05)  กับถั่วเขียวที่นำไปผ่าน RF ที่พลังงาน 640 วัตต์เป็นเวลา 220 วินาที มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 10.6 เปอร์เซ็นต์  527.55 นิวตัน  60.69 เปอร์เซ็นต์  20.27 เปอร์เซ็นต์  0.57 เปอร์เซ็นต์  และ  4.35 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ แต่ไม่มีผลกระทบต่อปริมาณเถ้าและปริมาณอะไมโลส  ในการวัดค่าสี L*, a*, b*  ของเมล็ดถั่วเขียวชุดควบคุมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  37.16,-1.22 และ 22.70  ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) กับที่ผ่าน RF  ซึ่งมีค่าเท่ากับ 36.11, -1.10 และ 24.46 ตามลำดับ 

 สำหรับค่าคงที่ไดอิเลคทริคและค่าแฟกเตอร์การสูญเสีย มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) จากชุดควบคุมซึ่งมีค่าเท่ากับ 2.117 และ 2.074 ไปเป็น 2.126 และ 2.086 ตามลำดับ ส่วนการเปลี่ยนแปลงของความหนืดข้นของแป้งถั่วเขียว พบว่ามีค่าความคงทนต่อการกวนของแป้งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) จาก 107.33 เป็น 131.83 RVU  ส่วนค่าความหนืดสูงสุดค่าการคืนตัวของแป้ง  ค่าอุณหภูมิเริ่มต้นความหนืด และค่าความหนืดสุดท้ายของถั่วเขียวที่ผ่าน RF ไม่แตกต่างทางสถิติกับชุดควบคุม