บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงโดยไทเทเนียมไดออกไซด์ต่อการควบคุมโรคแอนแทรคโนสของผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองหลังการเก็บเกี่ยว

ป้องเกียรติ ถาแก้ว

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2555.

2555

บทคัดย่อ

ผลของการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงโดยไทเทเนียมไดออกไซด์ต่อการควบคุมโรคแอนแทรคโนสของผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองหลังการเก็บเกี่ยว

การศึกษาผลของการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงโดยไทเทเนียมไดออกไซด์ต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคแอนแทรคโนสในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง แบ่งออกเป็น 2 การทดลอง คือ การทดลองที่ 1 ศึกษาความเข้มข้นของ TiO2 ร่วมกับระยะเวลาการให้แสง UV ที่เหมาะสมในการยับยั้งเชื้อ C. gloeosporioides ในจานอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA โดยนำสารแขวนลอยสปอร์ของเชื้อ C. gloeosporioides ที่ความเข้มข้น 2.0x106 สปอร์ต่อมิลลิลิตร ผสมกับ TiO2ที่ความเข้มข้นแตกต่างกันได้แก่ 1, 5 และ 10 mg/ml แล้วหยดลงในจานอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA จากนั้นนำมาวางในตู้ทำปฏิกิริยาที่มีแสง UV เป็นเวลา 0, 15, 30 และ 60 นาที จากการทดลองพบว่า ความเข้มข้นของไทเทเนียมไดออกไซด์ที่ 1 mg/ml และการให้แสง UV เป็นเวลา 60 นาที มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการงอกของเชื้อราดีที่สุด โดยเมื่อนำสปอร์ของเชื้อC. gloeosporioidesที่ผ่านการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงโดยไทเทเนียมไดออกไซด์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบความผิดปกติของสปอร์ สำหรับการทดลองที่ 2 ศึกษาผลของปฏิกิริยาที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งโดยไทเทเนียมไดออกไซด์ต่อการควบคุมโรคแอนแทรคโนส และคุณภาพของผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง โดยนำผลมะม่วงมาปลูกเชื้อ C. gloeosporioidesจากนั้นนำผลมะม่วงมาทดสอบกับชุดเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงโดยไทเทเนียมไดออกไซด์ เป็นเวลา 60 นาที โดยใช้ TiO2 ที่ความเข้มข้น 1 mg/ml หลังจากนั้นนำผลมะม่วงเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13oCเป็นเวลา 20 วัน นำมาวิเคราะห์การเกิดโรค และคุณภาพของผล จากผลการทดลองพบว่า ผลมะม่วงที่ผ่านการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงโดยไทเทเนียมไดออกไซด์มีความรุนแรงของการเกิดโรคแอนแทรคโนสลดลง สีเปลือกสว่างมากขึ้น โดยที่ผลสามารถสุกตามปกติ โดยผลมะม่วงมีปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ และ ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ ไม่แตกต่างจากชุดควบคุม